ถ้ำวัวทอง

ถ้ำวัวทอง

ด้านตะวันตกของเขาสารพัดดี
ซึ่งเป็นเขาดินสอและเขาหนองสอด
ชาวบ้านเล่าสืบกันมาว่า  มีถ้ำเก่าแก่เป็นที่อาศัยของวัวทอง อันเป็นวัวศักดิ์สิทธิ์ (ล่องหนหายตัวได้) ประวัติเล่ากันเป็นตุเป็นตะว่า มีผู้เห็นวัวสีทองนี้วิ่งผ่านทุ่งสนามแจง-บ้านแสวงหา-บ้านพรวน (เขตจังหวัดอ่างทอง) มาจนถึงเขาใหญ่-เขานมนาง-เขาน้ำพุ (เขตเดิมบางนางบวช) และมาสุดทางที่เขาสารพัดดีแห่งนี้ ฤกษ์งามยามดีวัวทองก็จะออกมาเดินร่วมกับฝูงวัวบ้าน มีคนเห็นกันเสมอๆ

วันหนึ่งพรานล่าสัตว์ได้พบเข้า ก็คิดว่าจะจับวัวตัวนี้ให้ได้คงขายได้ราคางาม จึงติดตามวัวทองไปจนถึงปากถ้ำ คอยเฝ้าผกอยู่เป็นเวลานาน ถ้าวัวออกมาก็จะจับให้จงได้ แต่ไม่เห็นวัวทองปรากฏกายให้เห็นอีกเลย ว่ากันว่านายพรานรอในท่าหมอบคลานจนพื้นหินนั้นเป็นรูปหลุมหัวเข่าเลยทีเดียว ในที่สุดถ้ำนั้นก็ถูกปิดตายมาจนทุกวันนี้

ต่อมาเมื่อกว่า ๗๐ ปีที่ผ่านมา (ประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๗๘) ลูกหลานของนายพรานได้ช่วยกันขุดถ้ำวัวทอง หวังว่าคงจะมีสมบัติอยู่ในถ้ำ สิ้นแรงสิ้นเวลาสิ้นเครื่องมือขุดไปเป็นอันมากก็ไม่มีวี่แววว่าจะพบถ้ำเลย ก็คนใจหยาบๆ จะค้นพบของละเอียดได้อย่างไรกัน

เมื่อประมาณกว่า ๕๐ ปีที่แล้ว (ปีพุทธศักราช ๒๔๙๘) สอ.วัน เข็มเงิน ตอนนั้นอายุ ๒๐ ปี อุปสมบทอยู่วัดปากน้ำ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี พรรษาที่ ๒ ได้เดินทางมาจำพรรษาที่วัดมะขามเฒ่า (ในเขตอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี) เดินทางผ่านเขาสารพัดดี-เขาหนองสอด-เขาดินสอ ซึ่งเป็นทางลัด ขณะนั้นเย็นมากแล้วใกล้ตะวันชิงพลบ มองไปข้างหน้าเห็นวัวตัวหนึ่งยืนตระหง่าน หันหน้าไปทางทิศเหนือ ท่านได้หยุดยืนดูจนติดตาว่า วัวตัวนี้เป็นวัวจริงหรือวัวโลหะ และในพริบตานั้นเองวัวก็หายไป ท่านไม่ได้คิดเลยว่านั่นคือ วัวทอง

ต่อมาได้ทราบจากลุงอ่อนผู้สูงอายุว่า นั่นเป็นบุญตาแล้วที่ได้เห็นวัวทองตัวจริง และเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๙-๒๕๑๑ สอ.วัน เข็มเงิน มาเป็นชาวไร่อยู่ใกล้เขาสารพัดดี คืนหนึ่งขณะนั่งคุยกับนายยุ่ง ปานบุญ เรื่องการทำมาหากิน ก็เห็นแสงไฟสว่างจ้าเท่าต้นตาลพวยพุ่งสูงเสียดฟ้า สักครู่ก็หายไป เขาเชื่อว่า ในเขาสารพัดดี ต้องมีของดีแน่นอน