พระบำรุง ปรากฏการณ์ชาวลับแล

ประสบการณ์จริง
จาก พระอาจารย์บำรุง  อุปฏฺฐาโฏ


ในช่วงก่อนเข้าพรรษา อาตมามีโอกาสได้ขึ้นไปเจริญกัมมัฏฐานบนยอดเขาสารพัดดี ซึ่งทราบว่า ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีพระ/ชี องค์ใด กล้าขึ้นไปองค์เดียวในเวลากลางคืน เพราะว่า หลวงพ่อใหญ่ (สังวาลย์ เขมโก) และหลวงพ่อสำรวม สิริภทฺโท สั่งห้ามไว้ ด้วยเกรงว่าจะมีภัยอันตราย ที่คิดไม่ถึงจะเกิดขึ้น หากควบคุมสติไม่อยู่ แล้วก็เกิดขึ้นจริงๆ


ในคืนนั้น เป็นคืนเดือนมืดสนิท หลังจากทำวัตรเย็น/ปฏิบัติกัมมัฏฐานเสร็จเรียบร้อย (๒๑.๐๐ น. กว่า) อาตมาก็แบกกลดขึ้นไปองค์เดียวทุกอย่างเงียบกริบ จนรู้สึกน่าวังเวง ไม่มีเสียงลม, ไม่มีเสียงสัตว์ แม้เสียงนกสักตัว ก็ไม่มีร้องเลย

ในระหว่างทาง มีความรู้สึกว่ามีแสงไฟปรากฏตามหลังไปเป็นระยะๆ ตลอดทาง ครั้นเหลียวกลับไปดู ก็ไม่พบใคร
เมื่อใกล้จะถึงยอดเขา ในโค้งสุดท้าย พลันก็ได้ยินเสียงร้อง “แบ๊ะ” ใกล้ตัว เสียงนั้นดังมาก เมื่อฉายไฟไปตามต้นเสียง สิ่งที่พบ ก็คือ เลียงผาตัวมหึมา กำลังกระโจนหนีอาตมา ด้วยความตกใจกลัวภัยจะมาถึงตัว เล่นเอาใจหายเหมือนกัน

ครั้นถึงยอดเขา มีพระกัสสปะ ล้ำค่าคู่โบสถ์เก่า พระก่อนนี้ ที่นี่เคยเป็นวัดร้างมาก่อน ถัดไปด้านหลัง เป็นพุทธบาทจำลองขนาดใหญ่ สวยงามมาก  หลังจากกราบพระประธานเรียบร้อยแล้ว ก็เจริญกัมมัฏฐาน ภาวนาไปเรื่อยๆ

บนยอดเขาคืนนี้ ลมแรงมาก เสียงใบไม้ไหวกระทบกัน ดังสลับกับเสียงลมตลอดเวลา ผสมกับเสียงกระดิ่งชายคาโบสถ์และเสียงไม้บนหลังคา หดตัวด้วยความเย็น ดังสลับกันอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา

ตกดึก อากาศเริ่มเย็นลง พลันก็ได้ยินคล้ายมีเสียงคนมาเดินวนอยู่ใกล้ๆ ไป-มา ครั้งแล้วครั้งเล่า เสียงนั้นก็ยังไม่หยุด พลันก็นึกถึงคำของครูบาอาจารย์เคยบอกว่า “ขณะเจริญกัมมัฏฐาน หากได้ยินเสียงอะไร ไม่ต้องไปสนใจให้เจริญกัมมัฏฐานไปเรื่อยๆ” เสียงนั้นก็ยังไม่ยอมหยุดสักที อาตมาคิดในใจ “ใครกันนะ มาเดินอยู่ได้” ด้วยความอยากรู้ จึงตัดสินใจลืมตาขึ้นดูทันที สิ่งที่พบตรงหน้า ก็คือ ความว่างเปล่า แล้วเสียงนั้นมาจากไหนละ.

เวลาผ่านไปจนรุ่งเช้า ๐๒.๐๐ น. หลังจากเก็บกลดและกราบลาพระประธานแล้ว ก็ลงจากยอดเขา (ต้องทำวัตรเช้า เวลา ๐๓.๐๐ น.) แต่พอลงพ้นโบสถ์ได้สักหน่อย ไฟฉายที่ใช้ประจำ ก็ดับไม่ยอมติดซะงั้น “เอาอีกแล้ว” อาตมาคิดในใจ ค่อยๆกำหนด พุท-โธ ลงไปเรื่อยๆ อย่างมีสติช้าๆ เพราะเป็นคืนเดือนมืด เกือบจะถึงครึ่งทาง ก็ชนเข้ากับลำไผ่ที่ล้มลงมาขวางทางได้อย่างไร ไม่ทราบเหมือนกันถึง ๒ ต้น ก็กำหนดไผ่หนอ ไม่ตกใจ

พอถึงช่วง ๒ โค้งสุดท้าย มีต้นไม้ปกคลุมทางหนาทึบมาก เดิมก็มองอะไรแทบไม่เห็นอยู่แล้ว ที่ลงมาได้ก็อาศัยความจำและความชินทางบ้างเท่านั้น แต่ช่วงนี้ยิ่งมืดสนิทจนจำอะไรไม่ได้เลย จะไปถูกหรือคงตกเขาตายคืนนี้กระมังเรา อาตมาคิดในใจยังไม่คิดขาดคำ ก็ปรากฏแสงสีขาวนวลลอยเด่น สว่างขึ้นจนเห็นทางเดินได้อย่างชัดเจน ก็พิจารณาว่า ต้นกำเนิดแสงนั้นมาจากไหน เพราะช่วงนี้ เขาชันและทึบมาก จากกุฏิพระหรือก็ไม่ใช่ เพราะแถวนั้นไม่มีกุฏิ / แสงลอดมาจากยอดเขาหรือ ก็ไม่ใช่อีก แล้วแสงนั้นมาจากไหน แถมซ้ำยังไม่ยอมดับอีก สว่างไสวอยู่ตลอดเวลา ลอยตามมาตลอดทาง จนอาตมาลงถึงเชิงเขาข้างล่าง แสงนั้นก็พลันหายไปอาตมาคิดว่า คงจะเป็นแสงจากบ้านของชาวลับแล หลังใดหลังหนึ่ง / หรือไม่ก็คงเป็นแสงที่เกิดจากอำนาจของเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่ง ตั้งใจส่องทางให้อาตมา คิดได้ดังนั้นก็นึกขอบคุณท่านอยู่ในใจ

อาตมาคิดว่า ในคืนนั้น ถ้าหากอาตมาเกิดความตกใจ / หวาดกลัวแล้วรีบลงมาจากยอดเขาเลย ถ้าไม่เสียสติ ก็คงจะตกเขาตาย เช็คบิลล์ไปเรียบร้อยแล้วในคืนนั้นเอง

ในคืนที่ ๒ ถัดมา เมื่อขึ้นไปถึงโค้งกลางทาง ตรงที่มีลำไผ่ล้มขวางทางคืนก่อน มีความรู้สึกว่า มีชายผิวคล้ำ ร่างสูงใหญ่มายืนขวางทางอยู่พลางอาตมาก็นึกขึ้นในใจว่า “อาตมา จะขึ้นไปบำเพ็ญเพียรภาวนาบนยอดเขา โยมมีธุระอะไรกับอาตมาไหม หากไม่มี อาตมาขอทาง” ร่างนั้น ถอยหลังไป ๒ – ๓ ก้าว แล้วก็หายไปในความมืด เมื่อผ่านโค้งไป ประมาณสัก ๕ เมตร ก็มีชายในชุดขาวล้วน ๓ คน มานั่งพนมมือ ต้อนรับ / ส่งอาตมาอยู่ข้างทางขวามือ อาตมาเดินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงยอดเขา หลังจากนั้น อาตมาก็ขึ้นไปเจริญกัมมัฏฐานภาวนา องค์เดียวบนยอดเขาอีกหลายครั้ง

ในระหว่างทาง ทุกครั้งเต็มไปด้วยความอบอุ่น มีความรู้สึกว่า มีใครมาคอยรับ / ส่ง อยู่ข้างทางมากมาย ตลอดเวลาทั้งไปและกลับ รวมทั้งพบเห็นสัตว์ป่าเรียงรายอยู่ข้างทางมากมายตลอดทาง

ในช่วงปี ๒๕๓๕ นั้น
อาตมามีโอกาสได้พบเห็นแสงประหลาด สีขาวนวลนั้น อีกครั้งหนึ่ง เมื่อคราว เก็บอารมณ์ / เข้าห้องปฏิบัติกัมมัฏฐานภาวนา

๘ ธ.ค. ๒๕๓๕ (เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น.) อาตมาไปสอบอารมณ์กับหลวงพ่อสำรวม สิริภทฺโท ที่กุฏิของท่าน เป็นครั้งแรกโดยลัดไปตามชั้นของไหล่เขา เพราะความไม่ชินทาง / ประกอบกับความมืด จึงหลงทางคนละชั้นของไหล่เขา เดินเลยกุฏิของท่านไปไกลโดยไม่รู้ตัว พลันปรากฏแสงสีขาวนวลมาทางด้านหลัง ตรงกับกุฏิของหลวงพ่อพอดี สักครู่หนึ่ง แสงนั้นก็หายไป

หลังจากที่หลวงพ่อสอบอารมณ์เรียบร้อยแล้ว ก็เรียนถามท่านว่า “ก่อนที่กระผมจะมาถึง หลวงพ่อได้เปิดไฟนีออนบ้างหรือเปล่า” ท่านตอบ “เปล่า” แล้วแสงสีขาวนวล ที่อาตมาเห็นนั้นล่ะ! เป็นแสงอะไร / แล้วมาจากไหน?




เรื่องชาวลับแลที่เล่าสืบกันมา

ความมัวในหมอกเมฆ

เมื่อวัดไกลกังวลกลับสภาพย้อนยุคอีกครั้ง จำเนียรกาลนานเนิ่นก็กลายเป็นถิ่นที่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนคนรุ่นเก่าๆ เล่ากันสืบมา น้อยคนนักที่บุกป่ารกทึบจนถึงยอดเขา เพราะเกรงกลัวจะเผชิญกับ... “ชาวลับแล


ชาวลับแล

ในความรู้สึกของคนทั่วไป ชาวลับแล คือ ผู้สำเร็จวิชากลุ่มหนึ่ง จึงมีกายเป็นทิพย์ อายุยืน ใจบุญอยู่ในศีลในสัตย์ อาศัยในโลกหยาบๆ ของมนุษย์ แต่คนธรรมดามองไม่เห็น ในขณะเดียวกัน คนเราธรรมดาถ้ามีศีลสัตย์หรือมีบุญ ชาวลับแลจะจำแลงให้เห็นให้สัมผัสให้อยู่ร่วมด้วยก็ยังได้ บางท่านกล่าวว่า แม้หลวงพ่อปาน วัดบางนมโคก็ยังสร้างบารมีอยู่ในเมืองลับแล ฟังแล้วงุนงงสงสัย

ใกล้ๆ ยอดเขาเดิมทีมีถ้ำเก็บสมบัติส่วนกลางมี หม้อ ไห โตก ถาด ชาม ช้อน คือ สารพัดชนิดที่ชาวบ้านจะยืมเอาไปใช้ในงานบุญกุศลได้ ถ้ำนี้เปิดเสมอสำหรับผู้มุ่งมาเพื่อเอาไปใช้ในงานสำคัญ ถ้ามาเที่ยวมาชมจะไม่มีโอกาสเห็นได้เลย ทุกบ้านทุกงานยืมไปแล้วต้องนำมาคืนให้ครบ

ในสมัยนั้น ความศรัทธาและความนับถือผนวกกัน ทำให้รู้สึกกลัวๆ กล้าๆ ฉะนั้นสิ่งของทุกชิ้นเอาไปเท่าไรเอามาคืนเท่านั้น ไม่มีใครจงใจและตั้งใจเก็บงำเอาไว้เพื่อตน เพราะเป็นของเขาสารพัดดี มันงามแตกต่างจากของชาวบ้านอย่างไม่ต้องสังเกตก็รู้ได้ เวลาที่ผ่านไปใจคนก็แปรเปลี่ยนไปด้วย ในที่สุดชาวลับแลก็ต้องปิดถ้ำสมบัติกลาง เพราะผู้ยืมไปแล้วเจตนาส่งคืนไม่ครบ ชาวลับแลถือว่าคบกันไม่ได้ เหตุจากคนคิดไม่ซื่อขโมยจากบ้านเจ้าภาพบ้าง เจ้าภาพหมกเม็ดเอาของเทียมผสมมาคืนบ้าง เป็นต้น แต่เล่ากันว่า ของเหล่านั้นก็กลายเป็นหิน เป็นใบไม้ไปจนหมด ไม่มีใครได้ครอบครองสมบัติของชาวลับแลไว้ในสภาพที่เคยเห็น


น้ำฝนปนน้ำท่า

มีชายชราเดินลงมาจากเขาสารพัดดี ลัดเลาะเข้าสู่หมู่บ้าน แล้วถามหาหมู่ญาติ ซึ่งชาวบ้านรุ่นเก่าเล่าว่าคนที่ชายชราถามหานั้น เป็นคนรุ่นทวด คือ พ่อของปู่อีกทีหนึ่ง ซึ่งพอจะจำชื่อจากการบอกเล่าของพ่อแม่ไว้ได้ ชายชรานี้อ้างว่าเป็นลูกหลานของเขา เมื่อต้อนรับเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำเสร็จ จึงได้เล่าประวัติชีวิตให้ฟังด้วยเสียงแผ่วเบาเศร้าสร้อยว่า

“เมื่อรุ่นหนุ่ม อายุ ๑๗ – ๑๘ ปี ขณะฝูงควายที่เลี้ยงไปเล็มหญ้าเขียวขจีง่วนอยู่ เขาก็ได้เดินชมแมกไม้บริเวณชายเขาสารพัดดี เลาะตามเนินขึ้นไปๆ แล้วพบหมู่บ้านเป็นทรงไทยเรือนไม้ มีคนอยู่ในหมู่บ้านนับได้เป็นร้อยๆ หลังคาเลยทีเดียว เขาเดินเข้าไปในหมู่บ้านพบคนอัธยาศัยดีพูดจาสุภาพ เขาเดินชมบรรยากาศรอบหมู่บ้าน ทักทายคนแปลกหน้าเหล่านั้นไปเรื่อยๆ จนรู้สึกคอแห้งกระหายน้ำ ได้ขอน้ำบ้านหนึ่งดื่ม แล้วได้คุยกัน เขาถูกชวนขึ้นบ้าน เป็นบ้านสะอาด กระดานพื้นถูกถูจนขึ้นเงา ได้ทานข้าว ได้พบหน้าลูกสาว เขาชวนให้อยู่ด้วย แปลกที่ความรู้สึกต่างๆ หนหลังเริ่มเลือนไปจากความเป็นห่วง ช่วยเขาทำงาน ในบ้าน นอกบ้าน และที่สุดก็ได้เป็นเขยใหญ่ในหมู่บ้านนั้น เขามีความสุข ปราศจากความระแวงใดๆ เพราะในหมู่บ้านสอนกันสืบมาว่า ต้องมีความซื่อสัตย์ ขยันทำดี และอดทนต่ออารมณ์ที่ทำใจให้เร่าร้อน ทะยานอยากทั้งปวง เป็นสังคมที่น่าอยู่อย่างยิ่ง

เรามีบุตรด้วยกันคนหนึ่งน่ารักน่าชัง เขาซนแต่เชื่อฟัง นี่เขาเพิ่งได้ ๓ ขวบ เมื่อวานเขาตามไปไร่ด้วยกัน เขาชอบวิ่งเล่น เราเลยขู่เขาว่า “อย่าวิ่งไปไกลนะเดี๋ยวเสือมันเห็นมันจะกินเอา” เขาวิ่งไปพักหนึ่งแล้วกลับมาบอกว่าไม่เห็นมีเสือสักตัว เราก็เลยขู่ต่อไปว่า “เห็นไหมเสืออยู่หลังพุ่มไม้นั่น มันหิวด้วย” ลูกเขาชะเง้อมองโยกซ้ายขวา อยากจะเห็นแต่เขาไม่กล้าเข้าไปใกล้ หลังจากเรากลับบ้าน พอดื่มน้ำแก้กระหาย เมียและพ่อตาแม่ยายก็มาพร้อมหน้า เขาว่าเราอยู่ด้วยกันไม่ได้อีกต่อไป เพราะเราพูดปดมดเท็จ เรางงมากว่าเรื่องอะไร ก็เรื่องหลอกลูกให้กลัว เสือไม่ได้อยู่หลังพุ่มไม้อย่างที่เราพูด นี่คือความเท็จ มันเป็นเรื่องปัจจุบันทันด่วน เราตั้งตัวไม่ติด อะไรจะมาไล่เราออกจากบ้านง่ายๆ เราก็โกรธ เมียเราก็รัก ลูกเราก็ห่วง ทุกคนตกอยู่ในความเศร้า เราเองมันเหมือนฝันไปหรือเปล่า แต่มันคือความจริง แม่ยายเอาหัวขมิ้นมากำหนึ่งส่งให้แล้วบอกว่า นี่คือสมบัติจะให้ติดตัวไป เราเห็นเป็นขมิ้นก็ใส่กระเป๋าเสื้อมาด้วย พอลงจากบ้าน ก็เลยควักมันทิ้งเสียส่วนหนึ่งด้วยความโกรธ และไม่รู้ว่าจะไปไหนดี จึงก้มหน้าก้มตาเดินออกจากบ้าน ไม่ถึงอึดใจ เงยหน้าขึ้นมาหมู่บ้านหายไปหมด เราตกใจมากไปทางไหนก็ไม่ถูก สำรวจตัวเองยังอยู่ครบ แต่มันแก่จนเดินจะไม่ไหวก็ย่องแย่งลงมาทางตีนเขาอย่างเดียว

เหนื่อยมากคอแห้ง นึกถึงขมิ้นที่แม่ยายให้มา คิดว่า ถ้าได้เคี้ยวสักหน่อยคงเรียกน้ำลายแก้คอแห้งไปได้ ล้วงเข้าไปในกระเป๋าเหลืออยู่ ๓ ชิ้น มันไม่ใช่ขมิ้น แต่มันเป็นทองอย่างที่เห็นอยู่ที่นี่แหละ เสียดายถ้าไม่ควักทิ้งน่าจะมีไม่น้อยกว่า ๖–๗ ตำลึง (หนัก ๒๔–๒๘ บาท)  เมื่อมาพิเคราะห์ดู เวลาน่าจะผ่านไปไม่น้อยกว่า ๑๒๐ ปี ในเมืองเขาลูกเราแค่ ๓ ขวบ เราอยู่กันประมาณ ๔ ปีเต็มๆ ก็เท่ากับว่า ๓๐ ปีบ้านเรา เท่ากับ ๑ ปีบ้านเขา” (๖ เดือน เท่ากับ ๑๕ ปี, ๑ เดือน เท่ากับ ๒ ปีครึ่ง)


ลับแลสร้างบุญ

เล่ากันว่า ที่เขาดินสอมีหินก้อนกลมๆ มากมาย ถ้าขึ้นไปงัดเอาก็ได้ แต่ต้องมาสกัดให้มันกลม เพื่อทำลูกนิมิต โบสถ์หลังหนึ่งใช้หิน ๙ ก้อน ต่อมามีคนเอาดีต่อดี เอาบุญต่อบุญเป็นไวยาวัจมัยก็ใช้วิธีจุดธูปขอต่อชาวลับแล ขอตอนเย็นๆ ใกล้ค่ำ รุ่งเช้าไปขนได้เลย จะได้หินที่กลมกลึงขนาดเดียวกัน ๘ ลูก ขนาดใหญ่ ๑ ลูก เป็นนิมิตลูกเอก เรื่องนี้เล่าลือกันไปทุกสารทิศ ในที่สุดด้วยความคิดเอาง่ายๆ ของคน เมื่อได้ไปแล้วแทนที่จะเอาไปทำจริงๆ กลับเอาหินอื่นทำนิมิตแทน เอาของชาวลับแลตั้งไว้บนศาลปิดทองเป็นของศักดิ์สิทธิ์ หลังจากงานฝังลูกนิมิตผ่านไป หินนั้นก็กลายเป็นดินก้อนกลมๆ เมื่อถูกฝนเปียกน้ำก็กร่อนยุ่ยผุพังไปในเวลาอันสั้น ด้วยเหตุดังกล่าว ชาวลับแลเลยไม่เชื่อใจมนุษย์ไม่ทำลูกนิมิตแจกอีกเลย
“เมื่อสัจจวาจาหาไม่ได้ จะเชื่อเพียงไรก็ไร้ผล  เมื่อสัจจะไม่อยู่ในหมู่คน เทวดาก็จนปัญญาเอย”


โอ่งลับแล

ด้านทิศตะวันออกของเขาสารพัดดี เป็นที่ราบต่ำลงไปจนถึงบึงฉวากไกลลิบ ในฤดูแล้งวันหนึ่ง เวลากลางวันแสกๆ แดดร้อนจัด พลันก็เกิดมีเสียงลมอื้ออึงทั่วบริเวณยอดเขาสารพัดดี ใบไม้ต้นไม้ไหวเอนไปตามลม ในพริบตานั้นเองก็มีโอ่ง ๓ ใบกลิ้งลงมาจากยอดเขาลงไปทางบึงฉวาก เหล่าเด็กเลี้ยงควายเห็นเข้าก็ตกใจไม่ทันตั้งสติ โอ่งใบแรกจึงกลิ้งหายลงไปในบึงฉวาก ช่วงนี้เด็กเลี้ยงควายเริ่มมีสติมากขึ้น จึงช่วยกันดักกั้นตีโอ่งใบที่ ๒ แตกกระจายตรงนั้นเอง ส่วนโอ่งใบที่ ๓ ดักกั้นไว้ไม่ทัน จึงกลิ้งตรงไปยังหมู่บ้านสาวชุม-หนุ่มหลง (ปัจจุบัน คือ บ้านเชี่ยน) แล้วกลิ้งเลย ลงไปในสระบัว ด้านเหนือกุฏิเจ้าอาวาส วัดบ้านเชี่ยน (วัดพิชัยนาวาส) ปัจจุบัน สระนี้ได้ถมแล้ว   ทางวัดได้เก็บโอ่งแตกใบนี้ไว้อย่างดี มาจนสมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยเสด็จหัวเมืองต่างๆ เพื่อชำระและหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ จึงขอโอ่งอภินิหารนี้ ไปเพื่อสืบค้นว่าโอ่งนี้มาจากสมัยใด ใครนำมาจากไหน และแล้วก็เงียบหายไปตราบจนทุกวันนี้