หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก กับวัดไกลกังวล



ประวัติ พระอธิการสังวาลย์ เขมโก  โดยสังเขป


ชาติภูมิ เกิดเดือน มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๙
ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๔ ปีมะโรง
ณ หมู่ ๕ ต. หนองผักนาก
อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี

บิดาชื่อ นายห่วง จันทร์เรือง
มารดาชื่อ นางวาด จันทร์เรือง

อุปสมบท วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๔ เวลา ๑๔.๔๕ น.
ณ วัดนางบวช อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี
โดยมีพระครูแขก เป็นพระอุปัชฌาย์


ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาส วัดไกลกังวล
ตั้งแต่ วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
ถึง พ.ศ. ๒๕๒๒


เจ้าอาวาส วัดทุ่งสามัคคีธรรม
ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๒
ถึง วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๗

มรณะ วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๗ ตรงกับวันวิสาขบูชา

คติประจำใจ พูดจริงดี ทำจริงดีกว่า อาตมาขอสมาทาน



การก่อสร้างวัดไกลกังวลสำเร็จด้วยดี คนมีกำลังศรัทธาเข้าวัดกันมากมาย ผ้าป่า กฐิน เทโวฯ ดูอุ่นหนาคลาคล่ำไปด้วยผู้ใคร่ในธรรม แต่ก็เป็นอยู่เช่นนี้เพียงไม่กี่ปี สภาพบ้านเมืองได้เปลี่ยนไปเนื่องจากภัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ อนิจจัง ก็เข้ามาเยือนอีกครั้ง จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี สภาพข้าวยากหมากแพง ทำให้เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมจี้ปล้นมีทุกหัวระแหง ชาวบ้านในหมู่บ้านเล็กๆ ต้องทิ้งบ้านเรือนไปอยู่หมู่บ้านที่ใหญ่กว่า หรือในตลาด ในที่สุดพระผู้อาศัยจรภิกขาจารจากชาวบ้านก็ลำบากยิ่งขึ้น จนไม่มีพระในวัดไกลกังวลนี้อีกวาระหนึ่ง ความรกร้างมืดครึ้มก็เข้ามาแทนที่อีกครั้งจนได้ ถังคอนกรีตและรอยพระพุทธบาท ๔ รอย ก็ทำหน้าที่เก็บกักน้ำตามหน้าที่ โดยมีสัตว์และคนมาอาศัยบางครั้งบางคราว แต่ภายหลังกลายเป็นที่อยู่ของพวกโจรปล้นและเรียกค่าไถ่อยู่ระยะหนึ่ง เหล่าโจรที่ดังๆ สมัยนั้นก็มี เสือดำ เสือฝ้าย เสือมเหศวร เสือเขียว เสือย่อม เสือสนธิ์ เสือผาด เสือใหญ่ๆ ไม่ก่อกรรมทำเข็ญเท่าไร แต่พวกลูกน้องเสือ หรือเรียกพวกเสือนก เสือปลา มักปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์จับเรียกค่าไถ่ ชาวบ้านไปไหนมาไหนต้องระวังตัว ทำมาหากินก็ลำบากขัดสน

หลวงพ่อสังวาลย์ เล่าให้ฟังว่า มีอยู่คราวหนึ่ง เสือฝ้ายจับตัวแม่แตงอ่อน สาวงามแห่งบ้านหนองผักนาก ตำบลหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ไปเรียกค่าไถ่โดยกักตัวไว้ที่เขาสารพัดดี ด้วยเหตุเพราะไม่ไว้วางใจคนที่ไม่มีศีลสัตย์ จึงต้องให้พระอาจารย์โหน่ง (อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองผักนาก) เป็นผู้นำเงินไปไถ่ตัว จึงได้สาวงามกลับคืนมา ด้วยเหตุนี้ ภิกษุเลยต้องหลบลี้หนีภัยไปด้วย บ้านก็ร้าง วัดก็ร้างตามกันไป พระใบฎีกาชนกและลูกวัดต้องย้ายไปอยู่วัดบ้านเชี่ยนระยะหนึ่ง แล้วได้ลาสิกขาไปเป็นทายก เรียกกันว่า “อาจารย์นก” สืบมา จะว่ากันไปพระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ใช่เพียงการเจริญทางวัตถุก็หาไม่ แต่การที่ชาวพุทธยังขวนขวายในกิจของศีลธรรม นับเป็นแก่นแท้ที่เอาไว้วัดความเจริญ “ชนผู้ไม่เกียจคร้านขุดหลุมทรายในท้องลำห้วยแห้งในที่ลุ่มแล้วพบน้ำฉันใด มุนีผู้ประกอบด้วยกำลังแห่งความเพียร ย่อมถึงความชุ่มเย็น คือความสงบฉันนั้น” ส่วนกฎแห่งการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็ยังดำเนินต่อไป หมู่เสือน้อยใหญ่ก็ถูกกองปราบส่งกลับไปอยู่กับพระยายม บ้านเมืองก็สงบเย็นได้อีกครั้งหนึ่ง

การปฏิบัติธรรม


ช่วงนั้นถ้าเป็นวันพระ จะมีเนสัชชิกธุดงค์ตลอด (คือถือธุดงค์ ข้อถือการยืน เดิน นั่ง เว้นการนอนเป็นวัตรตลอด ๒๔ ชั่วโมง) ญาติโยมเพิ่มขึ้น พระเณรก็มากขึ้นตามลำดับ หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก ปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษฏ์ ไม่จำเป็น ไม่ออกรับพูดคุยเทศน์โปรดญาติโยม แต่สำหรับพระเณรแล้วท่านให้โอกาสเสมอ

หอสวดมนต์ทรงกลมที่ได้กล่าวไว้แล้วก็ได้เกิดขึ้นจริงๆ หลังจากปรับพื้นที่ด้านเหนือแล้ว มีพิธีเผากระดูกหลวงพ่อป้อง สุปฏิปนฺโน โดยวางศิลาฤกษ์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ จากนั้นก็ลงเสาเอกหอสวดมนต์และก่อสร้างโดยใช้กำลังชาวบ้านมาช่วยกันเทปูน จนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ ได้สำเร็จลุล่วงดังที่หลวงพ่อท่านนิมิตเห็นสมัยอยู่ป่าช้าวัดบ้านทึ หอสวดมนต์ (สร้างปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ - ๒๕๒๗) ใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ และปฏิบัติกรรมฐานของพระภิกษุ สามเณร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๓ ชั้น ลักษณะทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๙ เมตร สูงจากพื้นถึงยอดปลีแก้ว ๓๙ เมตร เป็นพื้นหินขัด ใช้งบการก่อสร้างประมาณ ๔ ล้านบาทเศษ และมีแท็งก์สำหรับบรรจุน้ำทั้งหมด ๕ ลูก มีขนาดต่างๆ กัน ดังนี้

๑. แท็งก์น้ำใต้บันได ขนาดกว้าง ๕.๑๕ ม. ยาว ๕.๓ ม.
๒. แท็งก์น้ำคอนกรีต เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๗ ม. สูง ๓.๔ ม.
๓. แท็งก์น้ำคอนกรีต เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ ม. สูง ๒.๕ ม.
๔. แท็งก์น้ำคอนกรีต เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๑ ม. สูง ๒.๗ ม.
๕. แท็งก์น้ำสแตนเลส เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๑๕ ม.สูง ๑.๕ ม.

นอกจากการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังแล้ว ท่านส่งเสริมให้ลูกศิษย์เรียนรู้ปริยัติด้วย ไม่ว่านักธรรมหรือด้านอภิธรรม ตั้งแต่ท่านอยู่วัดทุ่งสามัคคีธรรม อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีพระอาจารย์บุญธรรม สอนพระอภิธรรมและนักธรรมอีกด้วย เมื่อท่านเห็นมีพระและอุบาสิกาเพิ่มขึ้น ก็จึงส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรเรียนนักธรรมและส่งเข้าสอบนักธรรมสนามหลวง ในนามของนักเรียนวัดทับนาบ้าง วัดบ้านเชี่ยนบ้าง ล่วงถึง พุทธศักราช ๒๕๑๗ ได้ขออนุญาตเปิดโรงเรียนสอนนักธรรมและธรรมศึกษาวัดไกลกังวลสำเร็จ โดยมีพระอุดม คุณวโร (คุณวโรดม) เป็นครูสอนองค์แรก มีนักเรียนมาก สอบธรรมสนามหลวง อำเภอหันคา เฉพาะวัดไกลกังวล มีผู้สอบนักธรรม ๑ ห้องเต็มและธรรมศึกษาอีก ๑ ห้องเช่นกัน

หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก อบรมสั่งสอนอยู่จนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ ได้ขอย้ายกลับไปอยู่วัดทุ่งสามัคคีธรรม อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นวัดแรกที่ท่านได้สร้างไว้และเป็นวัดบ้านเกิดของท่านด้วย ท่านได้ทะนุบำรุงให้รุ่งเรืองอีกครั้ง จนได้มีลูกศิษย์เข้าปฏิบัติธรรมอย่างเนืองแน่นลมแทบจับเมื่อยังไม่มีกำแพงรั้ววัด พอหน้าแล้งต้องคอยระวังไฟไหม้ภูเขาเสมอๆ เพราะมีพรานล่าสัตว์ชอบจุดไฟไล่เต่าบ้าง จุดเพื่อจะล่าสัตว์ เดินจะได้เสียงไม่ดัง สัตว์จะได้ไม่ตื่นหนี วันหนึ่งใกล้พลบค่ำ นายพรานมาดักซุ่มดูไก่ป่า ว่านอนกันพุ่มไม้ไหน พอรู้แล้วก็ถอยออกไป รอจนเกือบมืดก็ย่องมาดูซ้ายขวา ปลอดคนแน่นอน ยิ่งอยู่ท้ายเขาพระเจ้าที่ไหนจะรู้แกว เมื่อย่องมาใกล้ได้จังหวะก็เอาปืนยาวประทับบ่า เล็งไปยังไก่ป่าเคราะห์ร้ายที่เกาะคอนสงบนิ่งอยู่ ขณะนั้นก็มีมือมาจับที่หัวไหล่พร้อมทั้งมีเสียงนุ่มนวลตามมา “ขอบิณฑบาตเถอะโยม” นายพรานตกใจมากเพราะเสียงนั้น คือ เสียงหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก เขาหันมาทันทีแล้วทรุดตัวลงก้มกราบ “ผมขอโทษครับ หลวงพ่อ” กราบจนลืมนับว่ากี่ครั้ง พอเงยหน้าขึ้นมาก็ไม่มีหลวงพ่ออยู่เบื้องหน้าเสียแล้ว เขาไม่มีคำถามและไม่รอคอยคำตอบ เขาวิ่งสุดชีวิต ไปให้ไกลให้เร็วสุดฤทธิ์ และตั้งแต่วันนั้นผ่านมา พระสงฆ์องค์เณรก็ไม่ได้ยินเสียงปืนล่าสัตว์อีกเลย