ชีวประวัติหลวงพ่อสำรวม สิริภทฺโท


 ประวัติ พระอธิการสำรวม สิริภทฺโท


ชาติภูมิ เกิดวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔   ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘  ปีมะเส็ง
ณ บ้านเลขที่ ๑๘๘ หมู่ ๕    ต.หนองผักนาก อ.สามชุก     จ.สุพรรณบุรี

บิดาชื่อ นายสุ่ม สว่างศรี       มารดาชื่อ นางส้มลิ้ม สว่างศรี
อุปสมบท วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๑ เวลา ๑๑.๐๑ น.    ณ วัดหนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
โดยมีพระครูสุธรรมสถิต เป็นพระอุปัชฌาย์        ใบสุทธิเลขที่ ๒๐/๒๕๒๑ (พระครูสุธรรมสถิต)
การศึกษา      ทางโลก ป. ๔ (ร.ร.สว่างศรีราษฎร์อุทิศ) ปี ๒๔๙๕
                    ทางธรรม นธ.โท ปี ๒๕๑๙
ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาส วัดไกลกังวล     ตั้งแต่ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓   ถึง ปัจจุบัน (ตราตั้งเลขที่ ๑๒/๒๕๔๓)

คติประจำใจ อย่าเชื่อใจ อย่าตามใจ อย่าปล่อยใจ

อุปสมบท ครั้งแรก
 
          ท่านกราบขออนุญาตจากบิดามารดา ลาอุปสมบท เพื่อทดแทนบุญคุณตามประเพณี เมื่อเดือนเมษายน  ๒๕๐๔  ปีฉลู  ณ  วัดหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี  โดยมีพระครูกริ่ง  เจ้าคณะอำเภอสามชุกเป็นพระอุปัชฌาย์  ท่านเอาจริงเอาจังกับการบวช ท่านได้บอกกับเจ้าอาวาสไว้แล้วว่า พอบวชแล้วจะไม่ขออยู่ที่วัดนั้น จะขออยู่แค่เดือนเดียว แล้วจะย้ายไปอยู่วัดร้างข้างบ้าน (วัดทุ่งสามัคคีธรรม)  เนื่องจากหลวงพ่อใหญ่ (หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก) ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้แล้ว  โดยปลูกกุฏิหลังคามุงสังกะสีเล็ก ๆ อยู่ เป็นวัดร้าง ไม่มีโบสถ์ ไม่มีวิหาร  แต่เจ้าอาวาสวัดหนองผักนากไม่อนุญาตให้ไป 
         เนื่องจากพระสำรวม สิริภัทโท  เป็นภิกษุผู้มีความเอาใจใส่ดูแลครูบาอาจารย์เป็นอย่างดี ต้มน้ำชงน้ำชา คอยปรนนิบัติถวายเป็นอย่างดี ทั้งดูแลงานวัดก็มิเคยบกพร่อง น้ำท่าตักหามาใส่จนเต็มตุ่ม ไม่ว่างเว้นเลย
ทำทุกอย่างเสมอต้นเสมอปลาย  จนในที่สุดเจ้าอาวาสวัดหนองผักนาก จึงอนุญาตให้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดร้าง อยู่ได้  ๘  เดือนก็ต้องลาสิกขา  เพราะเป็นห่วงโยมบิดามารดาจะลำบากไม่มีคนคอยดูแลเอาใจใส่  

        หลวงพ่อสำรวมท่านเคยเป็นผู้รับเหมาใหญ่ หลังจากสิกขาลาเพศมาแล้ว ก็กลับมาทำโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา  วันหนึ่งท่านได้นั่งอยู่ริมห้วย น้ำไหลเหมือนวันก่อน ๆ ในตอนเย็น  ลูกน้องก็นั่งจับกลุ่มคุยกันไปตามเรื่องของเขา  แต่ท่านนั่งมองน้ำไหลริน เห็นปลาตัวเล็ก ๆ มันว่ายสวนน้ำขึ้นไป  ส่วนปลาตัวใหญ่หน่อยก็ต้องตะแคงตัว เอาหางถีบตีน้ำเสือกตัวไปกัน ตัวแล้วตัวเล่า ท่านนั่งน้ำตาคลอหน่วย  ท่านว่าสัตว์ในโลกมันเหมือนเรา ปลามันว่ายดิ้นไปนั้น โพยภัยอันตรายมันจะมาถึงตัวเมื่อไหร่ จะตายเมื่อไหร่ ถ้าเราเป็นพรานปลา ถามว่าพวกที่กำลังว่ายอยู่นี้จะรอดไหม  มันจะไปถึงสิ่งที่มันคาดหวังเอาไว้ไหม ไม่เลยมันไปเข้าหม้อต้มหม้อแกงหมด  แต่นั่นไม่เท่าไหร่ มันเป็นสัตว์เดรัจฉาน ส่วนเราสิ เป็นคน ทนสู้หาความสุข !!
พลัดถิ่นฐานบ้านช่อง หวังว่ามันจะดีกว่าเดิม คิดจะเลี้ยงพ่อแม่ แต่ก็ไม่ได้เลี้ยงท่านเลย ความสุขเล่าอยู่ที่ไหน ?
จะถึงเมื่อไหร่  มันเป็นเรื่องเปล่า ๆ ปลี้ ๆ ทั้งนั้น  จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่อาจรู้ได้ นั่นคือ เราเอง เราเองที่กำลังทำเหมือนคนทั้งหลายทำกัน แล้วมันก็ไม่ถึงแม้เงาของความฝัน เราทำในสิ่งที่เดินไปสู่ภาระผูกพัน หาเครื่องรัดรึงให้ตัวให้ใจเราเอง ยิ่งมากยิ่งทุกข์ เราคือคนโง่ ที่คิดว่าเราเก่ง  ท่านพิจารณาแล้วสังเวชตัวเองอย่างมาก ท่านนั่งน้ำตาซึม !!

         ไม่มีใครรู้ว่าท่านกำลังคิดจะทำอย่างไรกับชีวิตท่าน เพราะเวลาทำงานท่านก็ทำเหมือนเคย ไม่เคยแสดงความท้ออะไรให้ใครเห็นเลย ท่านเกิดความเบื่อหน่ายทางโลกมาก ในใจนั้นนึกอยากจะบวชอยู่ตลอดเวลา  ตอนนั้นตั้งแคมป์อยู่หน้าบริษัท ทุกวันเวลาที่ท่านอาบน้ำล้างมือ  ท่านก็จะพูดกับลูกน้องว่า  " วันนี้ล้างมือ
วันหน้าจะไปล้างใจ "   บอกอยู่ทุก ๆ วัน ทั้งที่ยังหนุ่มยังแน่น หน้าตาดีบุคลิกดี แถมยังเป็นเจ้าของธุรกิจทีทำเงินได้เป็นร้อยล้าน  ในสมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละหกสลึง  ทองบาทละ ๔๐๐  บาท  เศรษฐีหนุ่มเนื้อหอม เป็นชายแท้สูตรสำเร็จ ถ้าพูดกันเป็นเรื่องหนังสือ ก็เรียกว่าหนังสือดีมีครบทุกรสแต่ท่านยังคับแค้นใจยิ่งนักในการเป็นฆราวาสไม่มีโอกาสทำกุศลได้สะดวกครอบครัวเป็นอุปสรรคต่อการแสวงบุญ  เนื่องจากปรารถนาในอมฤตธรรม คือ พระนิพพาน  จึงไม่เลือกการใช้ชีวิตทางโลก

             ตอนนั้นงานสร้างอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ยังไม่ทันเสร็จ  วันที่  ๔  พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๑  ตอนเช้า
ท่านได้รับจดหมายจากคุณแล ว่า ได้รับเลือกให้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง งานโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ ที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี  ท่านก็คิดว่าถ้ารับงานใหม่นี้ ก็จะต้องทำงานหนักไม่จบไม่สิ้น ทั้งยังต้องเป็นหนังหน้าไฟ วิ่งไปวิ่งมาระหว่าง โคราช - อุบล ฯ  แถมยังต้องกู้เงินอีกเป็นร้อยล้าน แล้วเมื่อใดจึงจะจบสิ้น จึงจะหลุดออกจากธุรกิจมาบวชได้ พอท่านอ่านจดหมายจบก็พับจดหมายใส่กระเป๋าเสื้อ แล้วบอกตัวเอง ถามใจตัวเองว่า  " กายนี้มันเป็นของใคร " มันก็ตอบว่าตามสมมุติมันเป็นของเรา แล้วใจล่ะ ! เป็นของใคร มันก็ตอบตามสมมุติว่ามันเป็นของเรา  ถ้าเช่นนี้มันก็คือชีวิตของเรา คือ สิทธิของตัวเรา   เพียงเท่านั้น ท่านก็จับรถจากโคราชเข้ากรุงเทพเลย ถึงกรุงเทพฯเข้าบ้าน เก็บของใช้นิดหน่อย ตีรถเข้าเสาชิงช้าไปซื้อเครื่องบวชเลย แล้วก็ไปฟังธรรมกับครูบาอาจารย์ที่ วัดอาวุธวิกสิตาราม จึงจะตีรถกลับบ้านเกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี ขณะเดียวกันนั้น คุณแล สว่างศรี  ก็รับรู้การลาบวช จากจดหมายที่ท่านเขียนทิ้งไว้ที่บริษัทอ่างเก็บน้ำลำตะคอง  คุณแลรู้สึกตกใจเป็นอย่างมากนึกคิดไปสารพัดว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับน้องคนเล็กหรือเปล่า ก็ติดตามมาพบกันที่บ้านหนองผักนากแล้วซักไซ้จนละเอียด ทีแรกคิดว่าท่านมีปัญหากับครอบครัวคุณแลเองหรือไม่  เช่น  ขัดคอกับพี่สะใภ้  ก็ไม่ใช่เช่นกัน ทุกอย่างไม่ได้สร้างปัญหาให้ท่านขัดข้องเลย 

           คุณแลก็ขอร้องให้อยู่ก่อนเพื่อแบ่งหุ้นส่วน เอาไปหนึ่งในสามแล้วค่อยบวช ท่านก็ปฏิเสธสมบัติอื่น ๆ ทุกชิ้นไม่ต้องการ ต้องการบวชอย่างเดียว เพราะได้บริขาร ๘ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนสร้อยคอ พระเลี่ยมทองต่าง ๆ  ทั้งปืนสั้น ๒ กระบอก (ขนาด ๗ มม.และ ๑๑ มม.) ยกให้เลยพร้อมทั้งที่ดิน  ๒,๐๐๐  ไร่ที่ อ.กำแพงแสนก็ยกให้ทั้งหมด ฉะนั้นใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็ตามที จะต้องบวชแล้วท่านตั้งมั่นขนาดนี้ พี่รู้ใจน้องดีว่าคิดอะไร ทำอะไรไม่จริงไม่มี  แต่ที่ว่ามาไม่ใช่ทัดทาน เพียงแต่อยากจะให้ทำทุกอย่างให้เรียบร้อย จะได้กันข้อครหาในภายหลัง
    
                 ท่ามกลางความมืดมิดของคืนวันที่  ๔  พฤษภาคม  ๒๕๑๑  ท่านก็ได้กลับบ้านเกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมเครื่องบวช  เพื่อมากราบขออนุญาตลาบวชจากบิดามารดา  ในตอนนั้นทุกคนในบ้านหลับกันหมด ไม่มีใครรู้ว่าท่านกลับมาถึงบ้านแล้ว  อรุณวันใหม่เริ่มแสงประกายขึ้นแล้ว  เหมือนแสงแห่งพระธรรม
ที่สาดส่องเข้ามายังครอบครัวสว่างศรี และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายสืบต่อไป


อุปสมบทครั้งที่ ๒

           ครั้งนี้ท่านบวชเพื่อหนีทุกข์ ตั้งใจแล้วว่าไม่สึก สละชีวิตเพื่อค้นหาพระสัทธรรมตอนนั้นคุณแม้ส้มลิ้มเสียใจมาก  เนื่องจากความรักลูกจนลืมนึกไปว่า สิ่งนี้จะเป็นคุณอนันต์ต่อลูกชายตนเองและต่อพุทธศาสนิกชนทั้งปวงในอนาคต  รุ่งเช้าวันที่  ๕ พฤษภาคม ๒๕๑๑ ท่านได้พาพ่อสุ่มเดินทางไปหาท่านพระครูสุธรรมสถิต  เพื่อให้ทำการบรรพชาอุปสมบทให้ แล้วจึงไปพำนักปฏิบัติธรรมที่ วัดไกลกังวล ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา  จังหวัดชัยนาท

           โยมแม่ส้มลิ้มเสียใจมากไม่ยอมกินข้าวถึง ๗ วัน ลูกทุกคนต่างเป็นห่วง  กลัวแม่ส้มลิ้ม จะตายต้องช่วยกันปลอบใจ  ตอนนั้นท่านมีใจเด็ดเดี่ยวแรงกล้าต่อการอุปสมบท  ท่านถามใจตัวเองว่า หากโยมแม่ท่านตาย ท่านจะบาปหรือไม่  ใจท่านเองก็ตอบว่า ไม่บาป  เพราะท่านมิได้ทำให้โยมแม่ตาย  โยมแม่ไม่ยอมกินข้าวโยมแม่กำลังทำร้ายตัวเอง  ส่วนท่านนั้ต้องการศึกษาพระธรรม  มิได้ทำชั่ว   ผู้รู้ทั้งหลายย่อมจะสรรเสริญในการกระทำของท่าน  ถ้าหากท่านทำความชั่วให้เสื่อมเสียถึงวงศ์ตระกูล หากโยมแม่จะต้องเสียใจจนตาย อันนี้บาป  ท่านคิดกว่าหากโยมแม่ไม่ยอมเข้าใจก็จะหนีไปให้ไกลจากหมู่ญาติ ไม่ออกบิณฑบาต จะไม่ให้ใครรู้ว่าท่านอยู่ที่ไหน ให้เหมือนดั่งตายจากทุก ๆ คนไปแล้ว  ขณะนั้นท่านยังอยู่ที่วัดทุ่งสามัคคีธรรม ตำบลหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ตั้งของวัดอยู่ใกล้บ้าน ท่านได้ไปตักเตือนให้สติโยมแม่ โยมแม่เริ่มทำใจได้และเข้าใจในเหตุและผล จึงยอมกินข้าว คำว่ายอมกินข้าวนั้นเป็นคำกล่าวแบบให้เห็นกิริยาประจำวันทางกาย  แต่อันที่จริงนั่นเป็นเรื่องของใจ  ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว มากกว่า  เพราะทำใจไม่ได้ เห็นลูกชายมีกิจการงานที่ดี ร่ำรวยกะว่าจะเป็นที่พึ่งฝากผีฝากไข้ได้  แต่อยู่ ๆ กลับมาบวชไม่สึก เลยเสียใจอย่างมากกินไม่ได้นอนไม่หลับ มันไม่หิวเหมือนมีอะไรมาจุกคอหอยอย่างนั้นเลยทีเดียว  เมื่อหลวงพ่อพูดสัจจะจากใจและความเป็นจริงของชีวิตเอนกประการพอเข้าใจโล่งใจสบายใจเท่านั้น ความหิวความอยากก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะร่างกายต้องมีอาหารเป็นเครื่องดำเนินไปเป็นธรรมดา ท่านจึงอยู่ที่วัดทุ่ง ฯ อีก ๗ วัน รวมทั้งสิ้น ๑๕ วัน เพื่อจะได้ใกล้ชิดและคอยเตือนสติโยมแม่จนสภาวะจิตใจของโยมแม่เข้มแข็ง

           วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๑๑ ปีวอก ทั้งโยมพ่อโยมแม่และพี่ ๆ ทุกคน ก็นิมนต์ท่านไปจำพรรษาที่วัดไกลกังวล เพื่อปฏิบัติธรรม โดยมีพระอาจารย์สังวาลย์ เขมโก (หลวงพ่อใหญ่) เป็นผู้ถ่ายทอดการปฏิบัติธรรม ซึ่งท่านก็เพิ่งจะมาอยู่ที่นั่นก่อนหลวงพ่อสำรวมได้เพียง ๑๐ เดือน  เมื่อไปถึงวัดไกลกังวล ท่านก็กราบถวายตัวขอเป็นศิษย์ ชของหลวงพ่อสังวาลย์  มอบกายถวายชีวิตให้ท่านและปวารณาตัวว่า  "  เกล้ากระผมจะขอเชื่อฟังแต่คำสั่งสอนของครูบาอาจารย์อย่างเดียว เกล้ากระผมจะไม่ขอเชื่อใจตัวเองเลย  "  เมื่อได้ฟังเช่นนี้หลวงพ่อสังวาลย์ก็ยกมือขึ้นสาธุ และกล่าวว่า  "  ไม่เคยมีใครมาปวารณาตัวกับผมเช่นนี้เลย  "  และสิ่งนี้ก็เป็นหลักให้หลวงพ่อสำรวม สิริภัทโท ยึดถือมาตลอด ถ้าท่านคิดอะไรทำอะไรที่ไม่ตรงกับคำสอนของครูบาอาจารย์ ท่านก็จะไม่เชื่อใจตนเอง  หลวงพ่อสังวาลย์ ได้เทศน์ให้ท่านฟังสั้น ๆ เพียง ๓ ประโยค คือ

            ๑. ปฏิบัติให้เห็นทุกข์ ในทุก ๆ อิริยาบถ
            ๒. กำหนดให้ได้ปัจจุบัน
            ๓. อิริยาบถทั้งสี่(ยืน เดิน นั่ง นอน) และอิริยาบถปลีกย่อย ล้วนแต่เป็นเครื่องปิดบังทุกข์ ไม่ให้ผู้ปฏิบัติเห็น หรือรู้จักทุกข์ 

                  ท่านฟังแล้วคิดว่า  หากทำตามโอวาทเหล่านี้ได้ ก็สามารถพ้นทุกข์ได้แล้ว จึงปฏิบัติตามโอวาทนี้มาตลอด