ประวัติวัดไกลกังวล

ประวัติวัดไกลกังวล

(เขาสารพัดดีศรีเจริญธรรม)

 

สถานะปัจจุบัน

วัดไกลกังวลเป็นวัดราษฎร์ สังกัดนิกาย มหานิกาย ตั้งอยู่บนเขาสารพัดดี บ้านไร่สวนลาว เลขที่ ๑๔๕ หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ๑๗๑๓๐

ด้านตะวันตกติดกับเขาดินสอ ถัดจากเขาดินสอมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นเขาหนองสอด ด้านเหนือเป็นหมู่บ้านบ้านไร่สวนลาว ส่วนทางทิศตะวันออก เป็นหมู่บ้านหนองทาระกู และคลองชลประทานอู่ทอง – มะขามเฒ่า   บรรยากาศร่มรื่นไปทั้งภูเขามีต้นไม้นานาพันธุ์ ทั้งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติและปลูกขึ้นภายหลัง มีรั้วรอบขอบชิดด้วยกำแพงคอนกรีตถาวรสูง ๓.๗๐ เมตร ยาวรอบภูเขา ๕ กิโลเมตร ซึ่งนับว่า เป็นกำแพงวัดที่ยาวที่สุด และมีกำแพงล้อมป่าปลูกด้านทิศเหนืออีกราว ๒ กิโลเมตร

ได้รับอนุญาตให้ยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ ทำการบรรพชาอุปสมบทกุลบุตรได้  เนื้อที่ของวัดตาม สค. ๑ เลขที่ ๒๐๒ จำนวน ๑๐๐ ไร่เศษ

                                      ทิศเหนือ ยาว ๑๐ เส้น ติดต่อบ้านนายนิล ดวงแก้ว
                                      ทิศใต้ ยาว ๑๐ เส้น ติดต่อเขาสารพัดดี
                                      ทิศตะวันออก ยาว ๑๐ เส้น ติดต่อบ่อซับน้ำ
                                      ทิศตะวันตก ยาว ๑๐ เส้น ติดต่อเขาดินสอ

ยังมีที่ธรณีสงฆ์ เนื้อที่ ๓๒๔ ไร่ จากหลักฐานกองศาสนสมบัติ กรมการศาสนา ปี ๒๕๒๑ และได้ซื้อเพิ่มเติมเพื่อปลูกป่าถาวร และอนุรักษ์สัตว์ป่าราว ๒,๔๐๐ กว่าไร่ มีศาลา กุฏิ วิหาร พร้อมรับผู้เข้ามาปฏิบัติจากทั่วทุกสารทิศ ครั้งละมากกว่า ๑,๐๐๐ ชีวิตอย่างเพียงพอ มีธรรมานุศาสน์ และธรรมชาติเจริญหูเจริญตาตลอดเวลา พระสงฆ์องค์เณรทรงศีลสิกขาหมดจดและมั่นคงในธุดงควัตร ในรูปแบบที่ทั่วๆ ไป เรียกกันว่า “วัดพระป่า” หรือว่า “วัดพระปฏิบัติกัมมัฏฐาน” (สมเด็จพระสังฆราช, สา)


ความเป็นมา

วัดไกลกังวล ตามกองโบราณคดี กรมศิลปากร พิสูจน์แล้วว่าสร้างขึ้นในสมัยลพบุรี (พุทธศักราช ๑๐๐๒ หนึ่งพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้ว) แต่กลายเป็นวัดร้างมากี่ร้อยปีหรือถูกทะนุบำรุงขึ้นกี่ครั้งนั้นยังมิอาจค้นพบได้ ในละแวกใกล้เคียง เช่น ทิศเหนือ ด้านเชิงเขาลงไปใกล้บ้านสวนลาว มีวัดวิหารเก้าห้อง ซึ่งมีเจดีย์เก่าเป็นหลักฐานและบนยอดเขาหนองสอด ก็มีเจดีย์ปรากฏเช่นกัน ส่วนทิศตะวันออก ตีนเขาพื้นราบก็มีวัดเก่า เรียกว่า วัดไกรลาศ (ไกรราษฎร์หรือหนองทาระภู) (ปัจจุบัน คือ วัดเทพหิรัณย์) โบราณสถานดังกล่าวเหล่านั้น สร้างในสมัยลพบุรีทั้งสิ้นลักษณะวัสดุก่อสร้างที่เหลือให้เห็น เป็นซากเจดีย์ซึ่งก่อด้วยอิฐหนาใหญ่ยาว ส่วนเศษกระเบื้องดินเผาที่เหลือเห็นชัด ก็คือ ตะขอกระเบื้อง มีลักษณะงอแหลมยาวราวนิ้วชี้เห็นจะได้ ส่วนอื่นๆ ที่เหลือเป็นส่วนองค์พระพุทธรูปแกะด้วยหินทรายแดง เช่น เศียร แขน และหน้าตัก ฯลฯ ส่วนฐานเจดีย์นั้นเป็นหลุมลึกลงไป เพราะสมัยนั้นนักนิยมของเก่าได้ฝากฝีมือไว้

เล่ากันสืบมาว่า เมื่อวัดไกลกังวลตกอยู่ในสภาพรกร้างนั้น ทายกทายิกา บ้านใกล้เรือนเคียงได้ช่วยกันนำพระพุทธรูปและโบราณวัตถุที่มีอยู่ไปไว้วัดที่มีพระสงฆ์ เช่น หลวงพ่อแดง อยู่ที่วัดประชุมธรรม (ทับนา), หลวงพ่อดำ วัดหนองทาระภู, พระพุทธมาลีศรีเนินขาม วัดเนินขาม และระฆังอยู่ที่วัดหนองแจง ทั้ง ๔ วัดอยู่ในอำเภอหันคาเช่นกัน พระพุทธรูปและโบราณวัตถุเหล่านี้ล้วนศักดิ์สิทธิ์ มีผู้เคารพนับถือกันมาก จนกลายเป็นสมบัติคู่วัดคู่บ้านไปในที่สุด

อย่างไรก็ดี เมื่อมองดูภาพความรุ่งเรืองในอดีตแล้ว ต้องขอยกสองมือประนมอนุโมทนาแก่พุทธบริษัทในสมัยบรรพกาลที่ดำรงมั่นในพระพุทธศาสนา ได้ร่วมกันสร้างอารามเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เพื่อเพิ่มทาน ศีลและภาวนาบารมีให้แก่ตนและอนุชนรุ่นหลัง อันเต็มไปด้วยวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งยวด  แต่สามัญลักษณะมี อนิจจัง เป็นต้น ทำให้ทุกอย่างมีเกิดขึ้นและหมดไปเป็นธรรมดา เป็นไปตามกาลและตามอายุขัย เป็นอยู่นานเท่าไรไม่อาจหยั่งรู้ได้


คราฟ้าสาง

พุทธศักราช ๒๔๗๔ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือสงคราม “มหาเอเชียบูรพา” วัดร้างรกชัฏแห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง นำโดย พระชนก ปุญฺญวฑฺฒโน (ชนก นาคสังข์) ภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นพระใบฎีกาชนก เป็นพระฐานานุกรมในพระครูวิจิตรชัยการ (ปลั่ง ยสวํโส) เจ้าคณะอำเภอบ้านเชี่ยนในขณะนั้น ซึ่งท่านเป็นพระพื้นถิ่น และทราบว่าบนเขามีร่องรอยของวัดอยู่แล้ว เมื่อท่านลัดเลาะป่าทึบมาสำรวจอีกครั้งหนึ่ง จึงตัดสินใจว่าจะทำวัดร้างแห่งนี้ให้ฟื้นมาให้จงได้ 

ในสมัยนั้น ละแวกนี้ยังมี หมี เสือ เก้ง ละมั่ง งูเหลือม งูจงอาง อยู่มาก ตรงนี้จึงเป็นที่วิเวกสงบเหมาะแก่ผู้มาบำเพ็ญพรต เพียรปฏิบัติธรรม ซึ่งท่านเองก็ชอบอยู่เป็นทุน เมื่อท่านปรารภเรื่องนี้ ชาวบ้านต่างก็เห็นด้วยจะได้มีวัดใกล้บ้าน ได้มาทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล และปฏิบัติธรรมสะดวก ในที่สุดต่างรวบรวมกำลังกายกำลังทรัพย์ สร้างกุฏิและศาลาทำบุญ ขึ้น จากชาวบ้านบ้านไร่สวนลาว อ่างหิน มะขามเฒ่า หัวนา ทับนา บ่อม่วง ดอนกอก ดอนโก คลองขาด บ้านเชี่ยน หัวตอ ฯลฯ

บรรพบุรุษเหล่านั้น เช่น นายนวม คำแหง, นายไพ่ พึ่งเจียม, นายพิน-นางเล็ก แก้วอินทร์, นายนิล-นางธูป ดวงแก้ว, นายหยวก, นายชั้น, นายด่วน, หมอเล็ก, นายอ่อน, นายหิน, นายหัน บ้านหัวนา, นายคล้อย, ผู้ใหญ่เชิง บ้านมะขามเฒ่า, นางเปี่ยม, และนางสิน เป็นต้น เพียงไม่กี่วันงานก็บรรลุถึงเป้าหมาย สมดังคำภาษิต

สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา
ความพร้อมเพรียงของปวงชนผู้เป็นหมู่ ยังความเจริญให้สำเร็จ
(สมเด็จพระสังฆราช, สา)


พระใบฏีกาชนก
 เมื่อมีกุฏิ ศาลา ห้องครัวแล้ว พระใบฎีกาชนกก็จำพรรษาและตั้งชื่อว่า วัดไกลกังวล ตั้งแต่นั้นมา ทุกๆ ปีจะมีพระจำพรรษา ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง และมีถึง ๕ รูปบ้าง แต่บางปีก็มีพระใบฎีกาชนกเพียงรูปเดียว

สร้างเทศกาล

เขาสารพัดดีนั้นมีชื่อเสียงมายาวนาน อย่างน้อยหน่อไม้ก็อร่อย รสหอมหวานไม่มีรสขม ไม้ตะพดซึ่งได้จากไม้รวกตันที่เขาสารพัดดี ใครที่อยู่ยงคงกระพันยิงไม่ออกฟันไม่เข้า ถ้าโดนเข้าไปแล้วเป็นอันเลือดสาดทุกราย และยังป้องกันภูตผีปีศาจคุณไสยได้อีกด้วย พระชนก ปุญฺญวฑฺฒโน ดำริให้มีงานตักบาตรเทโวโรหณะ (วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก) ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในต่างอำเภอและต่างจังหวัด ภาพความงามของพระสงฆ์จำนวนหลายสิบรูป เดินลงจากเขา แลดูคล้ายดังพระภิกษุเดินตามพระพุทธองค์ลงมาจากดาวดึงส์สู่เมืองสังกัสสะนคร ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑


สำหรับงานตักบาตรเทโวโรหณะนี้ ได้มีผู้ผูกเป็นเพลงร้องฟังไพเราะเพราะพริ้งจนมีคนจำกันติดปากว่า 
“ถึงเดือนสิบเอ็ดแรมสามค่ำเขาก็ทำกันโก้ มีตักบาตรเทโวกันออกวุ่นวาย ไปนิมนต์พระสงฆ์ออกมายืนเป็นเส้าล้วนพระลาวพระไทย ต่างอุ้มบาตรยืนเบิ่ง คนก็คอยตักบาตรมีพระหลายวัดรวมกันเข้าไว้เดือนสิบเอ็ดเสร็จจากแรมสามค่ำ ตักบาตรกรวดน้ำไปถึงพิสังคนตาย ... ฯลฯ”
ตามเนื้อเพลงนี้บ่งไว้ชัดเจนว่า กำหนดเทศกาลเทโวฯ ประจำปีของวัดไกลกังวลมีขึ้นในวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งไม่ตรงกับวัดอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง และได้กระทำสืบเนื่องมาเป็นประเพณีจนถึงบัดนี้ ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงกำหนดการเป็นวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ แทน

เมื่อสร้างวัดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ทายกทายิกาเข้าวัดเพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องสร้างแท็งก์น้ำคอนกรีต ซึ่งยังซ่อมแซมใช้อยู่ยังปัจจุบัน และได้สร้างรอยพระพุทธบาท ๔ รอยจำลองบนยอดเขาด้านตะวันตกของเจดีย์เก่ามีขนาดกว้าง ๔ เมตร ยาว ๖ เมตร วิจิตรพิสดารมาก ซึ่งไม่ทราบว่าช่างที่ไหนมาแสดงฝีมืองานก่อสร้าง ๒ ชิ้นนี้ ซึ่งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องออกเรี่ยไรสมัยนั้น การออกเรี่ยไรจะต้องขออนุญาตจากทางการเสียก่อน และไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งอนุญาตในเวลาจำกัด กว่าจะเสร็จต้องขอต่อใบอนุญาตหลายครั้ง แต่

“วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ”
“คนจะล่วงทุกข์(ผ่านปัญหา)ได้ เพราะความเพียร” (ขุ.สุ.)

พระใบฎีกาชนกเดินทางไปเรี่ยไรเงินในกรุงเทพฯ ค้างกับพระมหาอาจ อาสโภ ภายหลังเป็นพระพิมลธรรม และได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ และที่นี่ท่านเคยจำพรรษาด้วย ท่านเรี่ยไรทั้งในกรุงเทพฯ และชานเมือง ทั้งยังได้เข้าพบ ฯพณฯ พอ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น (พุทธศักราช ๒๔๗๖) และได้ร่วมบุญมาหลายชั่ง (ราว ๒๐๐ กว่าบาท)  การก่อสร้างวัดไกลกังวลสำเร็จด้วยดี คนมีกำลังศรัทธาเข้าวัดกันมากมาย ผ้าป่า กฐิน เทโวฯ ดูอุ่นหนาคลาคล่ำไปด้วยผู้ใคร่ในธรรม แต่ก็เป็นอยู่เช่นนี้เพียงไม่กี่ปี สภาพบ้านเมืองได้เปลี่ยนไปเนื่องจากภัยสงครามโลกครั้งที่ ๒

อนิจจัง ก็เข้ามาเยือนอีกครั้ง จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี สภาพข้าวยากหมากแพง ทำให้เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมจี้ปล้นมีทุกหัวระแหง ชาวบ้านในหมู่บ้านเล็กๆ ต้องทิ้งบ้านเรือนไปอยู่หมู่บ้านที่ใหญ่กว่า หรือในตลาด ในที่สุดพระผู้อาศัยจรภิกขาจารจากชาวบ้านก็ลำบากยิ่งขึ้น จนไม่มีพระในวัดไกลกังวลนี้อีกวาระหนึ่ง ความรกร้างมืดครึ้มก็เข้ามาแทนที่อีกครั้งจนได้ ถังคอนกรีตและรอยพระพุทธบาท ๔ รอย ก็ทำหน้าที่เก็บกักน้ำตามหน้าที่ โดยมีสัตว์และคนมาอาศัยบางครั้งบางคราว แต่ภายหลังกลายเป็นที่อยู่ของพวกโจรปล้นและเรียกค่าไถ่อยู่ระยะหนึ่ง

เหล่าโจรที่ดังๆ สมัยนั้นก็มี เสือดำ เสือฝ้าย เสือมเหศวร เสือเขียว เสือย่อม เสือสนธิ์ เสือผาด เสือใหญ่ๆ ไม่ก่อกรรมทำเข็ญเท่าไร แต่พวกลูกน้องเสือ หรือเรียกพวกเสือนก เสือปลา มักปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์จับเรียกค่าไถ่ ชาวบ้านไปไหนมาไหนต้องระวังตัว ทำมาหากินก็ลำบากขัดสน

หลวงพ่อสังวาลย์ เล่าให้ฟังว่า มีอยู่คราวหนึ่ง เสือฝ้ายจับตัวแม่แตงอ่อน สาวงามแห่งบ้านหนองผักนาก ตำบลหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ไปเรียกค่าไถ่โดยกักตัวไว้ที่เขาสารพัดดี ด้วยเหตุเพราะไม่ไว้วางใจคนที่ไม่มีศีลสัตย์ จึงต้องให้พระอาจารย์โหน่ง (อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองผักนาก) เป็นผู้นำเงินไปไถ่ตัว จึงได้สาวงามกลับคืนมา

ด้วยเหตุนี้ ภิกษุเลยต้องหลบลี้หนีภัยไปด้วย บ้านก็ร้าง วัดก็ร้างตามกันไป พระใบฎีกาชนกและลูกวัดต้องย้ายไปอยู่วัดบ้านเชี่ยนระยะหนึ่ง แล้วได้ลาสิกขาไปเป็นทายก เรียกกันว่า “อาจารย์นก” สืบมา จะว่ากันไปพระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ใช่เพียงการเจริญทางวัตถุก็หาไม่ แต่การที่ชาวพุทธยังขวนขวายในกิจของศีลธรรม นับเป็นแก่นแท้ที่เอาไว้วัดความเจริญ “ชนผู้ไม่เกียจคร้านขุดหลุมทรายในท้องลำห้วยแห้งในที่ลุ่มแล้วพบน้ำฉันใด มุนีผู้ประกอบด้วยกำลังแห่งความเพียร ย่อมถึงความชุ่มเย็น คือความสงบฉันนั้น” ส่วนกฎแห่งการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็ยังดำเนินต่อไป หมู่เสือน้อยใหญ่ก็ถูกกองปราบส่งกลับไปอยู่กับพระยายม บ้านเมืองก็สงบเย็นได้อีกครั้งหนึ่ง

ความมัวในหมอกเมฆ

เมื่อวัดไกลกังวลกลับสภาพย้อนยุคอีกครั้ง จำเนียรกาลนานเนิ่นก็กลายเป็นถิ่นที่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนคนรุ่นเก่าๆ เล่ากันสืบมา น้อยคนนักที่บุกป่ารกทึบจนถึงยอดเขา เพราะเกรงกลัวจะเผชิญกับ... “ชาวลับแล”



ชาวลับแล

ในความรู้สึกของคนทั่วไป ชาวลับแล คือ ผู้สำเร็จวิชากลุ่มหนึ่ง จึงมีกายเป็นทิพย์ อายุยืน ใจบุญอยู่ในศีลในสัตย์ อาศัยในโลกหยาบๆ ของมนุษย์ แต่คนธรรมดามองไม่เห็น ในขณะเดียวกัน คนเราธรรมดาถ้ามีศีลสัตย์หรือมีบุญ ชาวลับแลจะจำแลงให้เห็นให้สัมผัสให้อยู่ร่วมด้วยก็ยังได้ บางท่านกล่าวว่า แม้หลวงพ่อปาน วัดบางนมโคก็ยังสร้างบารมีอยู่ในเมืองลับแล ฟังแล้วงุนงงสงสัย

ใกล้ๆ ยอดเขาเดิมทีมีถ้ำเก็บสมบัติส่วนกลางมี หม้อ ไห โตก ถาด ชาม ช้อน คือ สารพัดชนิดที่ชาวบ้านจะยืมเอาไปใช้ในงานบุญกุศลได้ ถ้ำนี้เปิดเสมอสำหรับผู้มุ่งมาเพื่อเอาไปใช้ในงานสำคัญ ถ้ามาเที่ยวมาชมจะไม่มีโอกาสเห็นได้เลย ทุกบ้านทุกงานยืมไปแล้วต้องนำมาคืนให้ครบ

ในสมัยนั้น ความศรัทธาและความนับถือผนวกกัน ทำให้รู้สึกกลัวๆ กล้าๆ ฉะนั้นสิ่งของทุกชิ้นเอาไปเท่าไรเอามาคืนเท่านั้น ไม่มีใครจงใจและตั้งใจเก็บงำเอาไว้เพื่อตน เพราะเป็นของเขาสารพัดดี มันงามแตกต่างจากของชาวบ้านอย่างไม่ต้องสังเกตก็รู้ได้ เวลาที่ผ่านไปใจคนก็แปรเปลี่ยนไปด้วย ในที่สุดชาวลับแลก็ต้องปิดถ้ำสมบัติกลาง เพราะผู้ยืมไปแล้วเจตนาส่งคืนไม่ครบ ชาวลับแลถือว่าคบกันไม่ได้ เหตุจากคนคิดไม่ซื่อขโมยจากบ้านเจ้าภาพบ้าง เจ้าภาพหมกเม็ดเอาของเทียมผสมมาคืนบ้าง เป็นต้น แต่เล่ากันว่า ของเหล่านั้นก็กลายเป็นหิน เป็นใบไม้ไปจนหมด ไม่มีใครได้ครอบครองสมบัติของชาวลับแลไว้ในสภาพที่เคยเห็น

น้ำฝนปนน้ำท่า

มีชายชราเดินลงมาจากเขาสารพัดดี ลัดเลาะเข้าสู่หมู่บ้าน แล้วถามหาหมู่ญาติ ซึ่งชาวบ้านรุ่นเก่าเล่าว่าคนที่ชายชราถามหานั้น เป็นคนรุ่นทวด คือ พ่อของปู่อีกทีหนึ่ง ซึ่งพอจะจำชื่อจากการบอกเล่าของพ่อแม่ไว้ได้ ชายชรานี้อ้างว่าเป็นลูกหลานของเขา เมื่อต้อนรับเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำเสร็จ จึงได้เล่าประวัติชีวิตให้ฟังด้วยเสียงแผ่วเบาเศร้าสร้อยว่า

“เมื่อรุ่นหนุ่ม อายุ ๑๗ – ๑๘ ปี ขณะฝูงควายที่เลี้ยงไปเล็มหญ้าเขียวขจีง่วนอยู่ เขาก็ได้เดินชมแมกไม้บริเวณชายเขาสารพัดดี เลาะตามเนินขึ้นไปๆ แล้วพบหมู่บ้านเป็นทรงไทยเรือนไม้ มีคนอยู่ในหมู่บ้านนับได้เป็นร้อยๆ หลังคาเลยทีเดียว เขาเดินเข้าไปในหมู่บ้านพบคนอัธยาศัยดีพูดจาสุภาพ เขาเดินชมบรรยากาศรอบหมู่บ้าน ทักทายคนแปลกหน้าเหล่านั้นไปเรื่อยๆ จนรู้สึกคอแห้งกระหายน้ำ ได้ขอน้ำบ้านหนึ่งดื่ม แล้วได้คุยกัน เขาถูกชวนขึ้นบ้าน เป็นบ้านสะอาด กระดานพื้นถูกถูจนขึ้นเงา ได้ทานข้าว ได้พบหน้าลูกสาว เขาชวนให้อยู่ด้วย แปลกที่ความรู้สึกต่างๆ หนหลังเริ่มเลือนไปจากความเป็นห่วง ช่วยเขาทำงาน ในบ้าน นอกบ้าน และที่สุดก็ได้เป็นเขยใหญ่ในหมู่บ้านนั้น เขามีความสุข ปราศจากความระแวงใดๆ เพราะในหมู่บ้านสอนกันสืบมาว่า ต้องมีความซื่อสัตย์ ขยันทำดี และอดทนต่ออารมณ์ที่ทำใจให้เร่าร้อน ทะยานอยากทั้งปวง เป็นสังคมที่น่าอยู่อย่างยิ่ง

เรามีบุตรด้วยกันคนหนึ่งน่ารักน่าชัง เขาซนแต่เชื่อฟัง นี่เขาเพิ่งได้ ๓ ขวบ เมื่อวานเขาตามไปไร่ด้วยกัน เขาชอบวิ่งเล่น เราเลยขู่เขาว่า “อย่าวิ่งไปไกลนะเดี๋ยวเสือมันเห็นมันจะกินเอา” เขาวิ่งไปพักหนึ่งแล้วกลับมาบอกว่าไม่เห็นมีเสือสักตัว เราก็เลยขู่ต่อไปว่า “เห็นไหมเสืออยู่หลังพุ่มไม้นั่น มันหิวด้วย” ลูกเขาชะเง้อมองโยกซ้ายขวา อยากจะเห็นแต่เขาไม่กล้าเข้าไปใกล้

หลังจากเรากลับบ้าน พอดื่มน้ำแก้กระหาย เมียและพ่อตาแม่ยายก็มาพร้อมหน้า เขาว่าเราอยู่ด้วยกันไม่ได้อีกต่อไป เพราะเราพูดปดมดเท็จ เรางงมากว่าเรื่องอะไร ก็เรื่องหลอกลูกให้กลัว เสือไม่ได้อยู่หลังพุ่มไม้อย่างที่เราพูด นี่คือความเท็จ มันเป็นเรื่องปัจจุบันทันด่วน เราตั้งตัวไม่ติด อะไรจะมาไล่เราออกจากบ้านง่ายๆ เราก็โกรธ เมียเราก็รัก ลูกเราก็ห่วง ทุกคนตกอยู่ในความเศร้า เราเองมันเหมือนฝันไปหรือเปล่า แต่มันคือความจริง แม่ยายเอาหัวขมิ้นมากำหนึ่งส่งให้แล้วบอกว่า นี่คือสมบัติจะให้ติดตัวไป เราเห็นเป็นขมิ้นก็ใส่กระเป๋าเสื้อมาด้วย พอลงจากบ้าน ก็เลยควักมันทิ้งเสียส่วนหนึ่งด้วยความโกรธ และไม่รู้ว่าจะไปไหนดี จึงก้มหน้าก้มตาเดินออกจากบ้าน ไม่ถึงอึดใจ เงยหน้าขึ้นมาหมู่บ้านหายไปหมด เราตกใจมากไปทางไหนก็ไม่ถูก สำรวจตัวเองยังอยู่ครบ แต่มันแก่จนเดินจะไม่ไหวก็ย่องแย่งลงมาทางตีนเขาอย่างเดียว
เหนื่อยมากคอแห้ง นึกถึงขมิ้นที่แม่ยายให้มา คิดว่า ถ้าได้เคี้ยวสักหน่อยคงเรียกน้ำลายแก้คอแห้งไปได้ ล้วงเข้าไปในกระเป๋าเหลืออยู่ ๓ ชิ้น มันไม่ใช่ขมิ้น แต่มันเป็นทองอย่างที่เห็นอยู่ที่นี่แหละ เสียดายถ้าไม่ควักทิ้งน่าจะมีไม่น้อยกว่า ๖–๗ ตำลึง (หนัก ๒๔–๒๘ บาท)  เมื่อมาพิเคราะห์ดู เวลาน่าจะผ่านไปไม่น้อยกว่า ๑๒๐ ปี ในเมืองเขาลูกเราแค่ ๓ ขวบ เราอยู่กันประมาณ ๔ ปีเต็มๆ ก็เท่ากับว่า ๓๐ ปีบ้านเรา เท่ากับ ๑ ปีบ้านเขา” (๖ เดือน เท่ากับ ๑๕ ปี, ๑ เดือน เท่ากับ ๒ ปีครึ่ง)

ลับแลสร้างบุญ

เล่ากันว่า ที่เขาดินสอมีหินก้อนกลมๆ มากมาย ถ้าขึ้นไปงัดเอาก็ได้ แต่ต้องมาสกัดให้มันกลม เพื่อทำลูกนิมิต โบสถ์หลังหนึ่งใช้หิน ๙ ก้อน ต่อมามีคนเอาดีต่อดี เอาบุญต่อบุญเป็นไวยาวัจมัยก็ใช้วิธีจุดธูปขอต่อชาวลับแล ขอตอนเย็นๆ ใกล้ค่ำ รุ่งเช้าไปขนได้เลย จะได้หินที่กลมกลึงขนาดเดียวกัน ๘ ลูก ขนาดใหญ่ ๑ ลูก เป็นนิมิตลูกเอก เรื่องนี้เล่าลือกันไปทุกสารทิศ ในที่สุดด้วยความคิดเอาง่ายๆ ของคน เมื่อได้ไปแล้วแทนที่จะเอาไปทำจริงๆ กลับเอาหินอื่นทำนิมิตแทน เอาของชาวลับแลตั้งไว้บนศาลปิดทองเป็นของศักดิ์สิทธิ์ หลังจากงานฝังลูกนิมิตผ่านไป หินนั้นก็กลายเป็นดินก้อนกลมๆ เมื่อถูกฝนเปียกน้ำก็กร่อนยุ่ยผุพังไปในเวลาอันสั้น ด้วยเหตุดังกล่าว ชาวลับแลเลยไม่เชื่อใจมนุษย์ไม่ทำลูกนิมิตแจกอีกเลย
“เมื่อสัจจวาจาหาไม่ได้ จะเชื่อเพียงไรก็ไร้ผล  เมื่อสัจจะไม่อยู่ในหมู่คน เทวดาก็จนปัญญาเอย”


โอ่งลับแล

ด้านทิศตะวันออกของเขาสารพัดดี เป็นที่ราบต่ำลงไปจนถึงบึงฉวากไกลลิบ ในฤดูแล้งวันหนึ่ง เวลากลางวันแสกๆ แดดร้อนจัด พลันก็เกิดมีเสียงลมอื้ออึงทั่วบริเวณยอดเขาสารพัดดี ใบไม้ต้นไม้ไหวเอนไปตามลม ในพริบตานั้นเองก็มีโอ่ง ๓ ใบกลิ้งลงมาจากยอดเขาลงไปทางบึงฉวาก เหล่าเด็กเลี้ยงควายเห็นเข้าก็ตกใจไม่ทันตั้งสติ โอ่งใบแรกจึงกลิ้งหายลงไปในบึงฉวาก ช่วงนี้เด็กเลี้ยงควายเริ่มมีสติมากขึ้น จึงช่วยกันดักกั้นตีโอ่งใบที่ ๒ แตกกระจายตรงนั้นเอง ส่วนโอ่งใบที่ ๓ ดักกั้นไว้ไม่ทัน จึงกลิ้งตรงไปยังหมู่บ้านสาวชุม-หนุ่มหลง (ปัจจุบัน คือ บ้านเชี่ยน) แล้วกลิ้งเลย ลงไปในสระบัว ด้านเหนือกุฏิเจ้าอาวาส วัดบ้านเชี่ยน (วัดพิชัยนาวาส) ปัจจุบัน สระนี้ได้ถมแล้ว  ทางวัดได้เก็บโอ่งแตกใบนี้ไว้อย่างดี มาจนสมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยเสด็จหัวเมืองต่างๆ เพื่อชำระและหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ จึงขอโอ่งอภินิหารนี้ ไปเพื่อสืบค้นว่าโอ่งนี้มาจากสมัยใด ใครนำมาจากไหน และแล้วก็เงียบหายไปตราบจนทุกวันนี้


 ถ้ำวัวทอง

ชาวบ้านเล่าสืบกันมาว่า ด้านตะวันตกของเขาสารพัดดีซึ่งเป็นเขาดินสอและเขาหนองสอด มีถ้ำเก่าแก่เป็นที่อาศัยของวัวทอง อันเป็นวัวศักดิ์สิทธิ์ (ล่องหนหายตัวได้)  ประวัติเล่ากันเป็นตุเป็นตะว่า มีผู้เห็นวัวสีทองนี้วิ่งผ่านทุ่งสนามแจง-บ้านแสวงหา-บ้านพรวน (เขตจังหวัดอ่างทอง) มาจนถึงเขาใหญ่-เขานมนาง-เขาน้ำพุ (เขตเดิมบางนางบวช) และมาสุดทางที่เขาสารพัดดีแห่งนี้ ฤกษ์งามยามดีวัวทองก็จะออกมาเดินร่วมกับฝูงวัวบ้าน มีคนเห็นกันเสมอๆ

วันหนึ่งพรานล่าสัตว์ได้พบเข้า ก็คิดว่าจะจับวัวตัวนี้ให้ได้คงขายได้ราคางาม จึงติดตามวัวทองไปจนถึงปากถ้ำ คอยเฝ้าผกอยู่เป็นเวลานาน ถ้าวัวออกมาก็จะจับให้จงได้ แต่ไม่เห็นวัวทองปรากฏกายให้เห็นอีกเลย ว่ากันว่านายพรานรอในท่าหมอบคลานจนพื้นหินนั้นเป็นรูปหลุมหัวเข่าเลยทีเดียว ในที่สุดถ้ำนั้นก็ถูกปิดตายมาจนทุกวันนี้

ต่อมาเมื่อกว่า ๗๐ ปีที่ผ่านมา (ประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๗๘) ลูกหลานของนายพรานได้ช่วยกันขุดถ้ำวัวทอง หวังว่าคงจะมีสมบัติอยู่ในถ้ำ สิ้นแรงสิ้นเวลาสิ้นเครื่องมือขุดไปเป็นอันมากก็ไม่มีวี่แววว่าจะพบถ้ำเลย ก็คนใจหยาบๆ จะค้นพบของละเอียดได้อย่างไรกัน   เมื่อประมาณกว่า ๕๐ ปีที่แล้ว (ปีพุทธศักราช ๒๔๙๘) สอ.วัน เข็มเงิน ตอนนั้นอายุ ๒๐ ปี อุปสมบทอยู่วัดปากน้ำ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี พรรษาที่ ๒ ได้เดินทางมาจำพรรษาที่วัดมะขามเฒ่า (ในเขตอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี) เดินทางผ่านเขาสารพัดดี-เขาหนองสอด-เขาดินสอ ซึ่งเป็นทางลัด ขณะนั้นเย็นมากแล้วใกล้ตะวันชิงพลบ มองไปข้างหน้าเห็นวัวตัวหนึ่งยืนตระหง่าน หันหน้าไปทางทิศเหนือ ท่านได้หยุดยืนดูจนติดตาว่า วัวตัวนี้เป็นวัวจริงหรือวัวโลหะ และในพริบตานั้นเองวัวก็หายไป ท่านไม่ได้คิดเลยว่านั่นคือ วัวทอง

ต่อมาได้ทราบจากลุงอ่อนผู้สูงอายุว่า นั่นเป็นบุญตาแล้วที่ได้เห็นวัวทองตัวจริง และเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๙-๒๕๑๑ สอ.วัน เข็มเงิน มาเป็นชาวไร่อยู่ใกล้เขาสารพัดดี คืนหนึ่งขณะนั่งคุยกับนายยุ่ง ปานบุญ เรื่องการทำมาหากิน ก็เห็นแสงไฟสว่างจ้าเท่าต้นตาลพวยพุ่งสูงเสียดฟ้า สักครู่ก็หายไป เขาเชื่อว่า ในเขาสารพัดดี ต้องมีของดีแน่นอน


เจ้าของเขาหวง

เรื่องปาฏิหาริย์ อ่านไปคลายง่วงได้ นายสุธรรม วันทนา อดีตครูใหญ่ โรงเรียนวัดเนินขาม กิ่งอำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท ตอนนั้นสอนอยู่โรงเรียนบ้านหัวตอ (อยู่ใกล้กับโรงเรียนวัดเนินขาม) พานักเรียนราว ๕๐ คน มาขนอิฐหักอิฐเก่าๆ ที่เชิงเขาหนองสอด จะเอาไปถมทางเข้าโรงเรียน เพราะเมื่อฝนตกเข้าออกลำบากมาก ก่อนขนก็จุดธูปขอเจ้าที่เจ้าทางแล้ว เมื่อขนอิฐลงมาใส่เกวียนวัว ใกล้จะพอ เมฆฝนครึ้มมารอบด้าน ฟ้าร้อง ลมกรรโชกอื้ออึ้ง ยังไม่ทันคิดว่าอะไรหรือจะทำอะไร ฝนก็ตกเป็นฟ้ารั่ว เด็กก็วิ่งหาที่กำบังกันวุ่นวาย นายสุธรรมเห็นท่าไม่ได้เรื่องจึงระดมให้เด็กเอาอิฐลงจากเกวียน พอขนลงหมด ฝนก็หยุดตกฟ้าก็ใส เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้านายสุธรรมอยู่ก็คงมีอายุสัก ๙๐ ปี เขาเชื่อว่าเป็นความอาถรรพ์ของขุนเขานี้



กระชายไร้ดง

แม่ชีทองดำซึ่งบวชอยู่ที่วัดไกลกังวล ขณะเป็นฆราวาสได้ไปเลี้ยงควายเลี้ยงวัวในบริเวณเชิงเขาสารพัดดี ได้ไปพบดงกระชายขึ้นเป็นจำนวนมาก เลยขุดกระชายนำกลับมาเตรียมอาหาร แน่นอนย่อมเป็นที่ถูกใจแม่ครัวที่บ้านเป็นอย่างยิ่งและแม่ครัวยังต้องการเพิ่ม หวังว่าวันรุ่งขึ้นจะไปขุดอีก พอไปถึงที่ พบแต่ที่ว่างเปล่า และเสียมที่ลืมปักทิ้งไว้ ไม่ปรากฏว่ามีดงกระชายอยู่เลย เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก (แล้วดงกระชายที่ขุดเมื่อวาน มันหายไปไหนหมด?)



สงสัยการหายจาก

คุณมนันท์ได้เดินหลงทางเข้าไปในเขาสารพัดดี พบต้นส้มโอ ซึ่งมีผลดกมาก จึงเก็บส้มโอนำกลับมาบ้าน คิดว่ารุ่งเช้าจะกลับมาเอาอีก จึงเอาเถาวัลย์ผูกต้นส้มโอ แล้วผูกต่อๆ กันมาจนถึงตีนเขา วันต่อมา เดินตามเถาวัลย์ไปจนถึงต้นส้มโอที่ผูกไว้ แต่ปรากฏว่า เป็นต้นไม้อื่น ไม่ใช่ต้นส้มโอ ทำให้รู้สึกประหลาดใจมาก (แล้วต้นส้มโอ มันหายไปไหน?)

ดอกบุนนาคบนสวรรค์

พี่สาวของผู้ใหญ่เฟือง เปี่ยมสิน (ผู้ใหญ่บ้านดอนโก ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท) ขึ้นไปบนยอดเขาสารพัดดีกับคุณพ่อ แล้วเก็บดอกบุนนาคจากยอดเขาลงมาด้วย คุณพ่อเห็นดอกบุนนาค จึงถามว่า “เก็บมาจากที่ไหน”   ลูกสาวบอกว่า “เก็บมาจากต้นที่หน้าโบสถ์” คุณพ่อจึงให้พากลับไปดูอีกครั้งด้วยความสงสัย มีแต่ต้นไม้อย่างอื่น ไม่พบต้นบุนนาคสักต้นเดียว ทั้งที่ดอกบุนนาคก็ยังอยู่ในมือลูกสาวแท้ๆ (น่าฉงน)



หมอพันตกใจ !

อาจารย์นก นาคสังข์ (อดีตพระใบฎีกาชนก) กับหมอพัน ได้มาพักบนเขาสารพัดดี และคุยกันถึงเรื่องเสือบนเขาสารพัดดี ว่าไม่น่าจะมีอยู่แล้ว อยู่ๆ ทั้งคู่ก็เหลือบเห็นเสือตัวใหญ่มหึมา ปรากฏอยู่ตรงหน้า ด้วยความตกใจ หมอพันจึงรีบโบกมือโบกไม้ เพื่อไล่ให้เสือหนีไป ทันใดนั้น เสือที่ปรากฏเฉพาะหน้าก็อันตรธานหายไป (ที่จริง เขาสารพัดดี ไม่มีเสือ แต่เสือที่เห็นมาจากไหน?)

ชาวลับแล โดยอนุมานน่าจะเป็นเทวดาจำพวกหนึ่งซึ่งเป็นภุมเทวดา ใช้ภูเขาเป็นวิมาน ซึ่งมีความสามารถพิเศษตรงที่ปรากฏกายอันเป็นทิพย์ให้ตาหยาบๆ มองเห็นได้ อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับมนุษย์โลกได้ นับว่าเป็นความพิเศษของภูมิทิพย์ชาวลับแล เรื่องทำนองนี้ไม่ใช่จะมีแต่ที่เขาสารพัดดีเท่านั้น ที่อื่นๆ ก็มากมาย


คราฟ้าจรัสแสง

ในใจและความรู้สึกของชาวบ้านใกล้ไกลยังมองขุนเขาเหล่านี้ลึกลับ มีสิ่งประหลาดมหัศจรรย์อยู่ในนั้น ส่วนหนึ่งมาจากมิจฉาชีพ พวกหัวโจรหัวขโมยก็ได้อาศัยเป็นแหล่งหลบซ่อน เขาอาจหวาดกลัว แต่มุมมืดของอาชีพเขาต้องจำยอม เพราะคนธรรมดาจ้างก็ยังไม่อยากย่างกรายเข้าใกล้ วัวควายใครหายในตำบล-อำเภอ-จังหวัดใกล้เคียง ต้องมาต่อรองไถ่คืนที่นี่จึงจะสมหวัง ที่ตรงนี้เลยมีสิ่งให้ครั่นคร้าม ๒ สถาน คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์และโจรขโมย
ล่วงมา พุทธศักราช ๒๕๑๐ หลังจากหมดฝนแล้ว หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก ได้ออกธุดงค์อีกครั้ง ท่านมีเป้าหมายทางภาคเหนือ แถวเชียงใหม่ เชียงราย ท่านเดินธุดงค์มาทาง ดอนไร่-วัดไทร-น้ำพุ และเข้ามาถึงเขาสารพัดดี ท่านขึ้นไปสำรวจยอดเขาเห็นเจดีย์ผุพังและรอยพระพุทธบาท ๔ รอย ท่านพิจารณาว่าตรงนี้ต้องเป็นที่ปฏิบัติธรรมที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง

ท่านเล่าว่าเมื่ออยู่ป่าช้าวัดบ้านทึง ได้นิมิตเห็นหอสวดมนต์สวยทรงกลมสูงตระหง่าน อยู่บนชะง่อนเขาลูกหนึ่ง หลังคาทรงไทย ๔ มุข ท่านจำได้ว่ามันอยู่ตรงภู ด้านทิศเหนือของเขาลูกนี้นี่เอง ท่านจึงแน่ใจในสิ่งที่ท่านเห็นจากนิมิตเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว ท่านว่ามีคนเข้าวัดมากมาย มีพระเหลืองไปหมด ท่านเสริมว่าหมู่บ้านย่านนี้ต่อไป มันจะปลูกกันสวยๆ (ตอนนั้นเป็นกระต๊อบ หลังคาหญ้าคา ข้างฝาเป็นไม้รวก ไม้ไผ่ หลังคาเล็กๆ)
ญาติโยมบ้านไร่สวนลาว ดีใจเห็นพระมาปักกลด ได้มาทำบุญใส่บาตร เริ่มสร้างกุฏิและศาลาเล็กๆ ชั่วคราวพอใช้ทำบุญกัน ในขณะนั้นทางเข้าวัดยังไม่สะดวก ทางตะวันออกมีทางเกวียนตรงขึ้นมา พอเข้าเขตตีนเขาก็เป็นสามแยก ทางหนึ่งอ้อมไปหลังเขาด้านทิศใต้ ทางหนึ่งมาทางบ้านไร่สวนลาว ฉะนั้นจะมาวัดต้องเดินลัดเลาะตามเนิน ทำให้มีโอกาสได้ออกกำลัง

หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก ยึดปฏิบัติในธุดงควัตร เช่น ฉันมื้อเดียว ใช้ผ้า ๓ ผืน เป็นต้น และไม่รับเงินทองเป็นของตน ส่วนในเรื่องทางใจ ท่านสอนสมาธิตลอดเวลา ชื่อเสียงขยายไปไกลมากขึ้น สาธุชนต่างมาบำเพ็ญกุศลกันมากมายเช่นกัน จึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “เขาสารพัดดีศรีเจริญธรรม”

คำว่า “สารพัดดีศรีเจริญธรรม” มีความหมายแฝงอยู่ในตัวเองว่า มีธรรมะและของดีสารพัดทั้งสรรพสิ่งที่บุคคลปรารถนาและประสงค์จะได้นานัปการ และสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นสมบัติที่ผู้สร้างแต่คุณงามความดี จึงจะเห็นและสัมผัสได้ สรรพสิ่งดีๆ เช่นว่านี้มีอยู่ครบครันบนขุนเขาแห่งนี้

ปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ หลวงพ่อสำรวม สิริภทฺโท อุปสมบทวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑ ณ วัดหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี แล้วได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดไกลกังวล (เขาสารพัดดีศรีเจริญธรรม) เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑ โดยมีหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก (หลวงพ่อใหญ่) เป็นผู้ถ่ายทอดการปฏิบัติธรรม เมื่อมาถึงวัดไกลกังวล ท่านก็กราบถวายตัวขอเป็นศิษย์ของหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก มอบกายถวายชีวิตให้ท่านและปวารณาตัวว่า “เกล้ากระผมจะขอเชื่อฟังแต่คำสั่งสอนของครูบาอาจารย์อย่างเดียว เกล้ากระผมจะไม่ขอเชื่อใจตัวเองเลย” เมื่อได้ฟังเช่นนี้ หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก ก็ยกมือขึ้นสาธุ และกล่าวว่า “ไม่เคยมีใครมาปวารณาตัวกับผมเช่นนี้เลย” และสิ่งนี้ก็เป็นหลักให้หลวงพ่อสำรวม สิริภทฺโท ยึดถือมาตลอด ถ้าท่านคิดอะไรทำอะไรไม่ตรงกับคำสอนของครูบาอาจารย์ ท่านก็จะไม่ปล่อยใจ ไม่ตามใจ และไม่เชื่อใจตนเอง หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก ได้เทศน์ให้ท่านฟังสั้นๆ เพียง ๓ ประโยค คือ

๑. ปฏิบัติให้เห็นทุกข์ ในทุกๆ อิริยาบถ
๒. กำหนดให้ได้ปัจจุบัน
๓. อิริยาบถทั้งสี่ (ยืน เดิน นั่ง นอน) และอิริยาบถปลีกย่อย ล้วนเป็นเครื่องปิดบังทุกข์ ไม่ให้ผู้ปฏิบัติเห็น หรือรู้จักทุกข์

ท่านฟังแล้วคิดว่า หากทำตามโอวาทเหล่านี้ได้ ก็สามารถพ้นทุกข์ได้แล้ว จึงปฏิบัติตามโอวาทนี้ตลอดมา
เมื่อหลวงพ่อสำรวม สิริภทฺโท ได้มาอยู่จำพรรษา เพื่อมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี่ และได้ทำให้ภิกษุสามเณร และญาติโยมที่เข้ามาพึ่งใบบุญของท่าน บางคนลด ละ เลิกอบายมุข หมาก บุหรี่ และอุปาทานเบื้องต้นได้อย่างน่าอัศจรรย์

ข่าวลืออันนี้ได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ทำให้อุบาสกอุบาสิกาจากหลายจังหวัดมาร่วมทำบุญกันอย่างมากมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทราบไปถึงนายชนก นาคสังข์ (อดีตพระใบฎีกาและเจ้าอาวาสเดิม) ซึ่งลาสิกขาบทไปประกอบสัมมาชีพเยี่ยงสุจริตชนทั่วไป ตั้งหลักฐานบ้านเรือนอยู่ที่บ้านทุ่งโพธิ์ ตำบลสุขเดือนห้า อำเภอหันคานี้เอง ได้หวนกลับมาอุปถัมภ์และสนับสนุนในด้านความคิด กำลังกาย และกำลังทรัพย์เท่าที่จะพึงมีและทำได้ ท่านได้ขวนขวายทุกวิถีทางที่จะช่วยนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่วัดไกลกังวล (เขาสารพัดดีศรีเจริญธรรม) อันเป็นวัดที่ท่านได้ริเริ่มก่อตั้งมา วัดที่ตัวท่านได้สู้อุตสาหะพากเพียรพยายามหาเงินทองมาปลูกสร้างร่วมกับญาติโยมครั้งอดีต แม้อายุสังขารท่านจะมากแล้วก็ได้คอยช่วยเหลือในสิ่งที่พอกระทำได้ตามควรแก่อัตภาพ แล้วอดีตพระใบฎีกาชนกก็ได้มาฝากชีวิตสังขารไว้กับเมรุเผาศพวัดไกลกังวลนี่เอง

หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก และหลวงพ่อสำรวม สิริภทฺโท พร้อมด้วยสานุศิษย์ก็ได้ช่วยกันพัฒนาวัดไปทั้ง ๒ ด้าน พร้อมๆ กันตามกุศโลบายอันแยบยล กล่าวคือพัฒนาทางด้านจิตใจคนเสียก่อน โดยอาศัยธรรมะเข้าช่วยอบรมกล่อมเกลาจิตใจ ให้ทุกคนมีจิตใจอันสะอาด บริสุทธิ์ ปราศจากความมัวหมอง เปรียบประดุจดังผ้าที่ขาวสะอาด ซึ่งพร้อมที่จะรับการซักและย้อมด้วยสี เพราะเมื่อใจคนสะอาด บริสุทธิ์แล้วก็พร้อมที่จะรับธรรมะได้ ฉันใดก็ฉันนั้น จึงนับเป็นการดำเนินตามวิถีทางอันถูกต้องที่สุด เรื่องการพัฒนาด้านจิตใจ หากกระทำได้สำเร็จแล้วจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะพัฒนาด้านวัตถุ ท่านจึงบรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ทุกประการ  มีผู้ผูกเป็นกลอนสอนให้คิดอย่างน่าฟัง ซึ่งขออนุญาตนำมาให้อ่านกันดังนี้

“จะปลูกพืชต้องเตรียมดิน
จะกินต้องเตรียมอาหาร
จะพัฒนาการต้องเตรียมประชาชน
จะเตรียมคนต้องเตรียมที่ใจ
จะพัฒนาใครต้องเราก่อน”
การพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า ก่อนอื่นต้องพัฒนาคนก่อน หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก ได้กระทำมาแล้ว และดำเนินมาแล้วตามคำกล่าวนี้อย่างน่าสรรเสริญ บัดนี้ท่านได้จุดประทีปอันชัชวาลขึ้นในปัญญาของท่านผู้ฉลาดและเจริญแล้ว ควรที่เราท่านจะได้ไขว่คว้าหาใส่ตน เชื่อว่าดวงประทีปจะรุ่งโรจน์โชติช่วงอย่างไม่มีวันหมดสิ้น จะอยู่คู่วัดคู่ศาสนาคู่โลกไปอีกนานเท่านาน

ปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ ภิกษุสงฆ์และทายกทายิกา ร่วมกันประชุมโดยมีหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก เป็นประธาน หาแนวทางขอเป็นวัดมีพระสงฆ์ตามขั้นตอนทางกฎบ้านการเมือง มีนายจันทร์ พวงเงิน กำนันตำบลบ้านเชี่ยน นายปลั่ง เปี่ยมสิน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๗ นายเฟื่อง เปี่ยมสิน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๘ นายแหยม อินทพิเชษฐ์ ข้าราชการครู นายเปลี่ยน บุญมี ข้าราชการครู นายเสาร์ วันทนา แล้วทำหนังสือไปยังสำนักงานศึกษาธิการ อำเภอหันคา ตอนนั้นนายบรรจบ อ่ำบุญ เป็นศึกษาธิการอำเภอ นายชวน ทิมาชัย เป็นผู้ช่วย โดยนายวิชา ปุนนจิต นายอำเภอหันคาให้นายชวน ทิมาชัย กับ นายเจียม มาโต อาจารย์กรมสามัญศึกษาทำการสำรวจแผนผัง เพื่อประกอบการยกเป็นวัดมีพระสงฆ์ และเสนอไปยังพระครูไพโรจน์ชัยคุณ รักษาการเจ้าคณะอำเภอหันคา ทำเป็นขั้นตอน จนเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๘ จึงได้รับการยกสภาพจากวัดร้าง เป็นวัดมีพระสงฆ์ ตามกฎมหาเถรสมาคม ได้ชื่อว่า “วัดไกลกังวล” (ตามชื่อเดิม)

แต่เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ รู้จักกันในนามของ “เขาสารพัดดีศรีเจริญธรรม” จึงได้นำมาเพิ่มเติมต่อท้ายชื่อวัดเป็น    “วัดไกลกังวล (เขาสารพัดดีศรีเจริญธรรม)”


การปฏิบัติธรรม

ช่วงนั้นถ้าเป็นวันพระ จะมีเนสัชชิกธุดงค์ตลอด (คือถือธุดงค์ ข้อถือการยืน เดิน นั่ง เว้นการนอนเป็นวัตรตลอด ๒๔ ชั่วโมง) ญาติโยมเพิ่มขึ้น พระเณรก็มากขึ้นตามลำดับ หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก ปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษฏ์ ไม่จำเป็น ไม่ออกรับพูดคุยเทศน์โปรดญาติโยม แต่สำหรับพระเณรแล้วท่านให้โอกาสเสมอ


หอสวดมนต์ทรงกลม

ที่ได้กล่าวไว้แล้วก็ได้เกิดขึ้นจริงๆ หลังจากปรับพื้นที่ด้านเหนือแล้ว มีพิธีเผากระดูกหลวงพ่อป้อง สุปฏิปนฺโน โดยวางศิลาฤกษ์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ จากนั้นก็ลงเสาเอกหอสวดมนต์และก่อสร้างโดยใช้กำลังชาวบ้านมาช่วยกันเทปูน จนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ ได้สำเร็จลุล่วงดังที่หลวงพ่อท่านนิมิตเห็นสมัยอยู่ป่าช้าวัดบ้านทึง


หอสวดมนต์ (สร้างปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ - ๒๕๒๗) ใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ และปฏิบัติกรรมฐานของพระภิกษุ สามเณร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๓ ชั้น ลักษณะทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๙ เมตร สูงจากพื้นถึงยอดปลีแก้ว ๓๙ เมตร เป็นพื้นหินขัด ใช้งบการก่อสร้างประมาณ ๔ ล้านบาทเศษ และมีแท็งก์สำหรับบรรจุน้ำทั้งหมด ๕ ลูก มีขนาดต่างๆ กัน ดังนี้

๑. แท็งก์น้ำใต้บันได ขนาดกว้าง ๕.๑๕ ม. ยาว ๕.๓ ม.
๒. แท็งก์น้ำคอนกรีต เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๗ ม. สูง ๓.๔ ม.
๓. แท็งก์น้ำคอนกรีต เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ ม. สูง ๒.๕ ม.
๔. แท็งก์น้ำคอนกรีต เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๑ ม. สูง ๒.๗ ม.
๕. แท็งก์น้ำสแตนเลส เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๑๕ ม.สูง ๑.๕ ม.

นอกจากการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังแล้ว ท่านส่งเสริมให้ลูกศิษย์เรียนรู้ปริยัติด้วย ไม่ว่านักธรรมหรือด้านอภิธรรม ตั้งแต่ท่านอยู่วัดทุ่งสามัคคีธรรม อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีพระอาจารย์บุญธรรม สอนพระอภิธรรมและนักธรรมอีกด้วย เมื่อท่านเห็นมีพระและอุบาสิกาเพิ่มขึ้น ก็จึงส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรเรียนนักธรรมและส่งเข้าสอบนักธรรมสนามหลวง ในนามของนักเรียนวัดทับนาบ้าง วัดบ้านเชี่ยนบ้าง

ล่วงถึง พุทธศักราช ๒๕๑๗ ได้ขออนุญาตเปิดโรงเรียนสอนนักธรรมและธรรมศึกษาวัดไกลกังวลสำเร็จ โดยมีพระอุดม คุณวโร (คุณวโรดม) เป็นครูสอนองค์แรก มีนักเรียนมาก สอบธรรมสนามหลวง อำเภอหันคา เฉพาะวัดไกลกังวล มีผู้สอบนักธรรม ๑ ห้องเต็มและธรรมศึกษาอีก ๑ ห้องเช่นกัน

หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก อบรมสั่งสอนอยู่จนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ ได้ขอย้ายกลับไปอยู่วัดทุ่งสามัคคีธรรม อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นวัดแรกที่ท่านได้สร้างไว้และเป็นวัดบ้านเกิดของท่านด้วย ท่านได้ทะนุบำรุงให้รุ่งเรืองอีกครั้ง จนได้มีลูกศิษย์เข้าปฏิบัติธรรมอย่างเนืองแน่น


ลมแทบจับ

เมื่อยังไม่มีกำแพงรั้ววัด พอหน้าแล้งต้องคอยระวังไฟไหม้ภูเขาเสมอๆ เพราะมีพรานล่าสัตว์ชอบจุดไล่เต่าบ้าง จุดเพื่อจะล่าสัตว์ เดินจะได้เสียงไม่ดัง สัตว์จะได้ไม่ตื่นหนี วันหนึ่งใกล้พลบค่ำ นายพรานมาดักซุ่มดูไก่ป่า ว่านอนกันพุ่มไม้ไหน พอรู้แล้วก็ถอยออกไป รอจนเกือบมืดก็ย่องมาดูซ้ายขวา ปลอดคนแน่นอน  ยิ่งอยู่ท้ายเขาพระเจ้าที่ไหนจะรู้แกว เมื่อย่องมาใกล้ได้จังหวะก็เอาปืนยาวประทับบ่า เล็งไปยังไก่ป่าเคราะห์ร้ายที่เกาะคอนสงบนิ่งอยู่ ขณะนั้นก็มีมือมาจับที่หัวไหล่พร้อมทั้งมีเสียงนุ่มนวลตามมา “ขอบิณฑบาตเถอะโยม” นายพรานตกใจมากเพราะเสียงนั้น คือ เสียงหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก เขาหันมาทันทีแล้วทรุดตัวลงก้มกราบ “ผมขอโทษครับ หลวงพ่อ” กราบจนลืมนับว่ากี่ครั้ง พอเงยหน้าขึ้นมาก็ไม่มีหลวงพ่ออยู่เบื้องหน้าเสียแล้ว เขาไม่มีคำถามและไม่รอคอยคำตอบ เขาวิ่งสุดชีวิต ไปให้ไกลให้เร็วสุดฤทธิ์ และตั้งแต่วันนั้นผ่านมา พระสงฆ์องค์เณรก็ไม่ได้ยินเสียงปืนล่าสัตว์อีกเลย


สนองเจตนา

เมื่อหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก ได้ย้ายไปอยู่วัดทุ่งสามัคคีธรรมแล้ว (ปีพุทธศักราช ๒๕๒๒) หลวงพ่อสำรวม สิริภทฺโท ได้รับหน้าที่บริหารวัดแทนจนถึงปัจจุบัน และท่านได้พัฒนาสถานที่ต่างๆ หลายประการ


การพัฒนาสถานที่

ปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ - ๒๕๓๑ ท่านได้สร้างเจดีย์ประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ จำลองจากพระปฐมเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ขนาดฐานกว้างโดยรวมประมาณ ๒๐ เมตร สูง ๑๘ เมตร ปูพื้นด้วยกระเบื้องโมเสค ไว้ที่ไหล่เขาสารพัดดี มีบันไดทางขึ้น จำนวน ๑๓๑ ขั้น กว้างขั้นละ ๒.๕ เมตร  พร้อมกับสร้างแท็งก์น้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒.๒ เมตร สูง ๓.๗ เมตร จำนวน ๓ แท็งก์



ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ ท่านได้ออกแบบก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์ด้วยตนเองบนพื้นที่กว่า ๒ ไร่ เป็นอาคารชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง ๒๒ เมตร ยาว ๔๐ เมตร พื้นปูด้วยปาเก้ไม้สัก พร้อมกับห้องน้ำจำนวน ๑ แถว (๘ ห้อง) และแท็งก์น้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๗ เมตร สูง ๔.๗ เมตร จำนวน ๑๐ แท็งก์ ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ๖ ล้านบาท ที่สำคัญศาลาหลังนี้ไม่มีเสากลางอาคารเลย ซึ่งเป็นที่ประหลาดใจแก่ผู้พบเห็น และเป็นที่ศึกษาดูงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันการศึกษาหลายแห่ง




ปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ ท่านได้สร้างสร้างศาลาหอฉันแทนศาลาหลังเดิมที่ยุบพังลง ศาลาหลังใหม่เป็นอาคารชั้นเดียว ก่ออิฐ ถือปูน ขนาดกว้าง ๒๔.๔ เมตร ยาว ๒๔.๔ เมตร เป็นพื้นหินขัดพร้อมกับห้องน้ำจำนวน ๑ แถว (๘ ห้อง) และแท็งก์น้ำ ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๖ เมตร สูง ๔.๓ เมตร จำนวน ๑ แท็งก์ ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ๒ ล้านบาทเศษ




ปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ – ๒๕๓๒ ท่านได้ดำริที่จะทำการก่อสร้างกำแพงวัดรอบพื้นที่เขาสารพัดดี ด้วยเหตุผล ๔ ประการ คือ

๑. เพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างวัดกับญาติโยมโดยรอบ
๒. เพื่อป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ป่าและสัตว์ป่า
๓. เพื่อให้วัดมีความสัปปายะ สงบร่มเย็น เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม
๔. เพื่อจัดความเป็นสัดส่วนระหว่างวัดกับชุมชน

แต่ท่านไม่มีปัจจัยในการดำเนินการก่อสร้าง ท่านจึงขอยืมจากศรัทธาญาติโยม โดยมีเงื่อนไขอยู่ ๓ ประการ หากโยมท่านใดรับข้อแม้ของท่านได้ ท่านจึงจะขอยืม เงื่อนไขนั้นมีอยู่ว่า

ข้อที่ ๑. ดอกผล ขอให้ตอบแทนเป็นบุญ
ข้อที่ ๒ ไม่มีกำหนดคืนที่แน่นอน ถ้ามีเมื่อไรจะคืนให้ทันที
ข้อที่ ๓ หากท่านถึงแก่มรณภาพก่อนใช้หนี้หมด โยมต้องยกหนี้ที่เหลือถวายให้ท่าน

ท่านเล่าให้ฟังว่า พอโยมเจ้าของเงิน ได้รับทราบเงื่อนไขของท่านทั้ง ๓ ข้อ ก็ตอบตกลงให้ท่านยืมทันที ท่านควบคุมการดำเนินการก่อสร้างด้วยตนเอง ทำงานทั้งกลางวันกลางคืนด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก แล้วเสร็จในเวลาเพียง ๑๑ เดือน













กำแพงวัดรอบเขาสารพัดดี มีความยาว ๕ กิโลเมตร สูง ๓.๗๐ เมตร เป็นกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก เทคานก่ออิฐบล็อกตัน อิฐแต่ละก้อนหนัก ๑๗ กิโลกรัม ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ๓๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นกำแพงวัดที่ยาวที่สุด    ปัจจุบัน ทางวัดกำลังก่อสร้างกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นนอกล้อมรอบที่ธรณีสงฆ์ ที่ยังเหลืออยู่โดยรอบบริเวณวัด ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อีกกว่า ๑,๐๐๐ ไร่ คิดเป็นระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร


ปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ สิ่งปลูกสร้างอันเป็นหลักของวัด คือ อุโบสถ หลังเก่าซึ่งมุงหลังคาสังกะสีไว้สำหรับทำกิจของสงฆ์บนยอดเขาสารพัดดี มีสภาพทรุดโทรมเต็มที ท่านได้วางแผนก่อสร้างใหม่ในพื้นที่เดิมจนสำเร็จ อุโบสถหลังใหม่เป็นอาคารชั้นเดียว ปูพื้นด้วยหินอ่อน หลังคาทรงสเปน ความกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๖ เมตร สูง ๑๕ เมตร ไม่มีฝาผนัง ลมสามารถพัดเข้าออกสะดวก โปร่งเย็นสบาย ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ๓ ล้านบาท และฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๕


 








ภายในอุโบสถหลังเก่า เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานศักดิ์สิทธิ์คู่วัดสร้างในสมัยลพบุรีคือพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ก่อนหน้า พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า, องค์หน้าในภาพ) ซึ่งชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ท่านจึงบูรณะซ่อมแซมใหม่ในคราวเดียวกันกับการสร้างอุโบสถหลังใหม่



อีกทั้งท่านได้สร้างใบสีมา แกะสลักจากหินแกรนิตทั้งก้อน น้ำหนักใบละ ๑ ตันกว่า ขนาดกว้าง ๐.๙ เมตร สูง ๒.๑๐ เมตร หนา ๐.๒๖ เมตร จำนวน ๘ ใบ พร้อมฐาน กว้าง ๑.๗๖ เมตร ยาว ๑.๗๖ เมตร สูง ๑.๕๕ เมตร ครอบลูกนิมิตที่ประดิษฐานไว้รอบอุโบสถหลังใหม่ทั้ง ๘ ทิศ ซึ่งแทนพระอรหันต์ที่สำคัญ ๘ องค์ ได้แก่

                                            ๑. พระโมคคัลลานะ (อุดร) ทิศเหนือ
                                            ๒. พระราหุล (อีสาน) ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
                                            ๓. พระโกณฑัญญะ (บูรพา) ทิศตะวันออก
                                            ๔. พระมหากัสสปะ (อาคเนย์) ทิศตะวันออกเฉียงใต้
                                            ๕. พระสารีบุตร (ทักษิณ) ทิศใต้
                                            ๖. พระอุบาลี (หรดี) ทิศตะวันตกเฉียงใต้
                                            ๗. พระอานนท์ (ประจิม) ทิศตะวันตก
                                            ๘. พระควัมปติ (พายัพ) ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
                                           (ลูกนิมิตกลางอุโบสถ แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
ปัจจุบัน อุโบสถหลังนี้ได้ใช้ในการบรรพชาอุปสมบทให้แก่กุลบุตร และทำสังฆกรรมต่างๆ ตลอดมา


ปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ - ๒๕๓๕ ท่านได้ออกแบบก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เขมโก เป็นอาคารชั้นเดียว ลักษณะทรงกลม มีพื้นที่รอบนอก (ระเบียง) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๗.๕ เมตร และพื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๓.๕ เมตร สูง ๕.๕ เมตร มีทางเดินวนได้โดยรอบ ก่อสร้างอยู่กลางสระน้ำ บริเวณหน้าวัด มีสะพานเชื่อมต่อกับขอบสระ ด้านบนเป็นฐานประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ความสูง ๘๔ เซนติเมตร องค์พระพุทธรูปมีความสูงจากฐานล่าง ถึงพระเกศ ๕.๕ เมตร ผนังด้านนอก ประกอบขึ้นจากกระเบื้องดินเผา แสดงสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง (ประสูติที่ลุมพินีวัน, ตรัสรู้ที่พุทธคยา, แสดงปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน, ปรินิพพานที่กุสินารา) ภายใต้ฐานพระนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เขมโก และเป็นที่เก็บรักษาหุ่นขี้ผึ้งและบริขารของหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก ผู้เป็นครูบาอาจารย์ของท่าน

ภายในพิพิธภัณฑ์เขมโก ประกอบด้วย

· ตู้ใส่เครื่องบริขาร ความกว้าง ๓๒ นิ้ว สูง ๗๑ นิ้ว จำนวน ๒ หลัง
· แจกันหินอ่อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๙ นิ้ว สูง ๒๖ นิ้ว จำนวน ๒ ใบ
· แท่นหินอ่อนวางกระถางธูป ขนาเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ นิ้ว สูง ๓๔.๕ นิ้ว จำนวน ๑ แท่น


ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองพระชนมพรรษาครบ ๗๒ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  ท่านได้สร้างกุฏิเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช    กุฏิเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา เป็นอาคารทรงไทย ๒ ชั้นหลังคากระเบื้อง ขนาดกว้าง ๑๗.๕ เมตร ยาว ๒๑ เมตร สร้างจากไม้สักทองทั้งหลัง พื้นชั้นล่างปูด้วยหินแกรนิต ราคาประมาณเกือบ ๓๐ ล้านบาท เพื่อเป็นการอนุรักษ์แบบบ้านทรงไทย ซึ่งเป็นศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทย ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ และท่านใช้เป็นกุฏิรับรองครูบาอาจารย์ และพระเถระผู้ใหญ่อีกด้วย





ปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ ท่านได้สร้างพระมหากัจจายนะ แกะสลักจากหินทรายทองทั้งก้อน หนัก ๑๘ ตัน ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๓ นิ้ว (๑.๓๕ เมตร) สูง ๖๓ นิ้ว (๑.๖๐ เมตร) ประดิษฐานไว้ด้านหน้ากุฏิเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช





ปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ – ๒๕๔๗ ท่านได้ออกแบบก่อสร้างสถูปภูเขาหินจำลองครอบรอยพระพุทธบาท อยู่บนยอดเขา ด้านหลังอุโบสถ
สถูปภูเขาหินจำลอง ครอบรอยพระพุทธบาท ลักษณะเป็นถ้ำ
· ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ภายใน ๒๒ เมตร. ภายนอก ๒๖ เมตร.
· ความสูงภายใน ๑๔.๕๐ เมตร. ภายนอก (จากฐานถึงพื้น) ๑๙.๓๖ เมตร. (จากฐานถึง ขอบปูนบน) ๒๐.๔๕ เมตร
· สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑๘๗.๔๕ เมตร. (ยอดเขาสารพัดดี สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑๖๗ เมตร)
ภายในสถูป ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ๔ รอย ขนาดกว้าง ๔ เมตร ยาว ๖ เมตร สร้างในปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ และในวันที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕ ท่านได้สร้างรอยพระพุทธบาทซ้าย – ขวา ขนาดกว้าง ๑.๖๕ เมตร ยาว ๓ เมตร เพิ่มอีก ๒ รอย ซึ่งแกะสลักเป็นรูปมงคล ๑๐๘ บนก้อนหินทรายทอง ๒ ก้อน แต่ละก้อน หนักก้อนละ ๑๘ ตัน โดยฝังไว้ในพื้นดินที่ความลึก ๒ เมตรจากหน้าดิน เพื่อให้สามารถมองเห็นรอยพระพุทธบาทได้ชัดเจน

 
 
 บนยอดสถูป ท่านได้สร้างเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ, พระพุทธรูปปางต่างๆ, พระบูชา,พระเครื่องมากมายและพระธาตุของครูบาอาจารย์ อีกหลายท่านรวมอยู่ด้วย


องค์พระเจดีย์มีขนาดความสูงจากฐานถึงยอด ๑๕.๐๘ เมตร ความสูงโดยรวมจากพื้นดินถึงยอด ๓๔.๔๔ เมตร องค์พระเจดีย์อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๒๐๑.๔๔ เมตร ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ ๑๑ ตัน



ด้านทิศตะวันตกของสถูป ท่านได้สร้างพระสีวลี แกะสลักจากหินทรายทองทั้งก้อน หนัก ๑๘ ตัน ลักษณะพระธุดงค์ ขนาดกว้าง ๓๙ นิ้ว (๑ เมตร) สูง ๑๒๒ นิ้ว (๒.๘๕ เมตร) ประดิษฐานไว้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่ได้มาสักการะอย่างยิ่ง











ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ ท่านได้สร้างอาคารสิริภทฺโท รวมใจประชา ขนาดกว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๕ เมตร พร้อมห้องน้ำ ๑ แถว (จำนวน ๗ ห้อง) ใช้งบประมาณการก่อสร้าง ๑๒ ล้านบาท ใช้เป็นฌาปนสถาน และสถานที่ปฏิบัติธรรม โดยฉลองอาคารไป


เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ภายนอกอาคาร จัดเป็นสวนพฤกษชาติ สวยงาม ร่มรื่น สะอาดตา ชวนมอง ส่วนภายในอาคาร ตกแต่งด้วยภาพวาดธรรมชาติภายในวัดด้วยสีน้ำอะคริลิก งามวิจิตรตระการตา





รายนามช่างภาพที่วาดภาพภายในอาคาร (ชุดที่ ๑)
๑. นายชัยโย ทองหมื่นไวย์ : ๐๘๕-๖๗๗-๙๓๖๓
๒. นายขวัญชาติ เสมาทอง : ๐๘๕-๐๔๗-๒๙๗๗
๓. นายจิระ จิระเสวี : ๐๘๗-๙๘๒-๗๒๘๒

รายนามช่างภาพที่วาดภาพภายในอาคาร (ชุดที่ ๒)
๑. นายกิตติศักดิ์ - วรินทร์ บุตรดีวงศ์   ๑๖๙ หมู่ ๑ ต.มดแดง อ.ศรีประจันต์   จ.สุพรรณบุรี ๗๒๑๔๐
(๐๘๖-๗๕๖-๔๘๒๘, ๐๘๑-๘๔๖-๙๔๙๔)
๒. สมคิด บรรเทา ๐๘๗-๑๕๓-๕๙๙๕
๓. จุมพล ผลาพฤกษ์ (๐๘๐-๖๕๑-๐๒๑๒)  ๑๔๘ หมู่ ๑๒ ต.โนนชัยศรี อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด


ส่วนหลัง เป็นเตาเผาศพระบบแก๊ส จำนวน ๒๖ ถัง กระบวนการเผาแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรก จะปล่อยความร้อนผ่านด้านบนเหนือศพ เพื่อทำการเผาศพด้วยอุณหภูมิกว่า ๑,๒๐๐ องศาเซลเซียส




ส่วนที่สองจะเป็นการเผาควัน และกลิ่นที่หลงเหลือจากส่วนแรกอีกครั้ง ทำให้เตานี้ปราศจากมลภาวะ กลิ่น เชื้อโรคและควันอย่างแท้จริง   การเผาระบบนี้ใช้เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย



การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า

ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ ท่านได้เริ่มโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากสภาพธรรมชาติของภูเขาสารพัดดีแต่ก่อนเต็มไปด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติและสัตว์ป่ามากมาย แต่ถูกมนุษย์ทำลายไปอย่างไม่เหลือสภาพเดิม ไม่มีต้นไม้ใหญ่ เหลือเพียงกอรวกและหญ้าขึ้นอยู่ทั่วไป

ท่านจึงนำประชาชนช่วยกันปลูกป่าเพื่อทดแทนป่าไม้เดิมที่ถูกทำลายไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ ไม่ให้ถูกทำลายและอนุรักษ์พันธุ์ไม้ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ อาทิเช่น ชิงชัน มะค่าโมง กฤษณา สายน้ำผึ้ง สัก ประดู่ป่า พยุง ไม้แดง เต็ง รัง และไม้เบญจพรรณอื่นๆ อีกกว่า ๓,๐๐๐ ชนิด เพื่อไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกป่าประมาณ ๒,๔๐๐ กว่าไร่





โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพร ท่านได้รวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรที่หายากและใกล้สูญพันธุ์มาปลูกขยายพันธุ์ในบริเวณวัด อาทิเช่น หนอนตายอยาก หัวยาข้าวเย็น ยางน่อง พิมเสน และว่านสมุนไพรต่างๆ รวมทั้งสิ้นกว่า ๑,๐๐๐ ชนิด แต่ไม่ได้ทำเป็นการค้าหรือทำการแปรรูปแต่อย่างใดทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้สืบต่อไป













โครงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ ท่านได้รวบรวมพันธุ์สัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์หลายชนิดมาปล่อย และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ ในบริเวณวัดที่ได้สร้างกำแพงล้อมไว้โดยไม่ได้กักขังแต่ประการใด เช่น

· กวางป่า, กวางดาว, ละมั่ง, เนื้อทราย, เก้ง, เลียงผา, กระจง, หมี รวมกันทั้งสิ้นประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าตัว
· นกยูงไทย และอินเดีย, นกหว้า รวมกันประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าตัว
· ไก่ป่า, ไก่ฟ้า, ไก่ต๊อก, ไก่งวง ประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าตัว
· นิ่ม, เต่าภูเขา, เต่านา, เต่าหับ, เต่าเหลือง, เต่าญี่ปุ่น, ตะกวด รวมกันประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าตัว
· ผึ้งหลวง จำนวนกว่า ๑๐๐ รัง
· นกพันธุ์ต่างๆ อีกมากมาย ฯลฯ







และได้บริจาคให้แก่แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติต่างๆ อีกมากมาย เช่น สวนนกชัยนาท โครงการจุฬาภรณ์ เขาสอยดาว อมก๋อย ห้วยแก้ว เชียงดอย ผาเกิ้ง ป่าไม้อำนาจเจริญ ทั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์สัตว์ป่าดังกล่าว มิให้สูญพันธุ์ อยู่เป็นสมบัติของชาติและเป็นที่ศึกษาเรียนรู้ของอนุชนรุ่นหลังสืบไป (ข้อมูลสัตว์ป่า ณ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๓)


ปัจจุบัน หลวงพ่อสำรวม สิริภทฺโท ท่านกล่าวว่า ไม่อยากบริจาคให้ใครอีกแล้ว เพราะสงสารที่เห็นสัตว์เหล่านั้นต้องถูกกักขังอยู่ในคอก ในกรง ขาดอิสรภาพตลอดชีวิต บางสถานที่ที่ท่านไปเยี่ยม พบว่า อดอยาก ผอมโซ น่าเวทนายิ่งนัก และท่านยังได้กล่าวอีกว่า หากนำสัตว์เหล่านี้ไปปล่อยในป่า ก็เหมือนเอาไปฆ่าดีๆ นี่เอง เนื่องจากสัตว์ในวัดเหล่านี้เชื่องไม่กลัวคน เห็นคนจะเข้ามาหา เพราะเคยได้กินอาหารจากคน หากอยู่ในป่าก็จะไม่กลัวคน ทำให้ถูกคนใจร้ายฆ่าได้โดยง่าย ถ้าจะต้องอดตาย ขอให้สัตว์เหล่านี้ตายในวัดดีที่สุด เพราะไม่ต้องตายอย่างหวาดผวา

 


การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

มูลนิธิ สิริภทฺโท โดยพระอธิการสำรวม สิริภทฺโท เป็นประธานมูลนิธิ ได้รับอนุญาตจดทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๗ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทะนุบำรุง ส่งเสริม สงเคราะห์ผู้ปฏิบัติธรรมของวัด ทะนุบำรุงซ่อมแซมอาคารศาสนสถาน และเพื่อพัฒนาสาธารณประโยชน์อื่นๆ ปัจจุบันมีเงินทั้งสิ้นกว่า ๑๕ ล้านบาท โดยได้นำดอกเบี้ยที่ได้รับจากการฝากเงิน มาใช้จ่าย นอกจากสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว ยังใช้เพื่อการสาธารณประโยชน์อื่นๆ ในเขตตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท อีกหลายโครงการ อาทิเช่น

· ก่อสร้างที่แปรงฟันให้เด็กนักเรียนโรงเรียนไกรราษฎร์วิทยา
· ก่อสร้างระบบประปาให้กับทางโรงเรียนชุมชนวัดบ้านเชี่ยน
· สร้างโรงอาหารให้แก่โรงเรียนวัดบ้านใหม่
· สร้างโรงอาหารให้กับโรงเรียนหันคาพิทยาคม
· สร้างอาคารการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษให้กับโรงเรียนวัดประชุมธรรม (ทับนา)
· บริจาคที่ดินให้ก่อสร้างสถานีอนามัยบ้านไร่สวนลาว เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ครองราชย์ครบ ๕๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๓๙) จำนวน ๕ ไร่ และก่อสร้างรั้วรอบสถานีอนามัย ศาลาธรรมโอสถ ตลอดจนต่อเติมอาคารชั้นล่างสถานีอนามัยและจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่เจ็บป่วย รวมถึงบริจาคพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่ปลูกอยู่ในบริเวณของสถานีอนามัย
· บริจาคเงินต่อเติมอาคารสถานีอนามัยชั้นล่าง ให้กับสถานีอนามัยตำบลสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
· บริจาคเงินสร้างห้องพักผู้ป่วยตึกพิเศษ พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
· บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ เช่น ภัยจากคลื่นสึนามิที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา
· บริจาคเงินช่วยเหลือในการสร้างบ้านเรือนให้แก่ผู้ที่ประสบภัยจากคลื่นสึนามิที่ภาคใต้ จำนวน ๑ หลัง



กองทุนการศึกษา สิริภทฺโท โดยพระอธิการสำรวม

สิริภทฺโท เป็นประธานกองทุน จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๑ ปัจจุบัน มีเงินทุนทั้งสิ้น จำนวน ๒,๑๘๗,๑๘๑.๗๕ บาท (ณ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๓) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่เรียนดีแต่ขัดสน ในเขตพื้นที่อำเภอหันคา และใกล้เคียง มีการมอบทุนการศึกษาให้ปีละกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาท โดยท่านได้ตระหนักเห็นความสำคัญของการศึกษาและอนาคตของชาติ หากเด็กในวันนี้ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ก็จะทำให้เด็กเหล่านี้ฉลาด เป็นพลเมืองที่มีค่า และสามารถสร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองได้ ท่านได้เมตตาและให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนมาก เนื่องจากเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว



ท่านยังจัดให้มีการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนทุกๆ ปี และประกาศเชิญชวน ให้คณะครู หรือผู้ปกครองที่มีบุตรหลาน ให้พามาบวชเพื่อเป็นการฝึกหัดปฏิบัติธรรมตั้งแต่ยังเด็ก ท่านพูดเสมอว่า “ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก” และที่สำคัญ หากบุตรหลานได้มาบวช ปฏิบัติธรรม ผลพลอยได้ที่จะตามมาก็คือ พ่อ แม่หรือครูอาจารย์ก็จะได้พลอยเข้าวัดด้วย ทำให้ได้ประโยชน์หลายต่อ




กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์วัดไกลกังวล เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ โดยพระอธิการสำรวม สิริภทฺโท เป็นประธานที่ปรึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกรู้จักเก็บออมเงิน และไม่ต้องตกเป็นลูกหนี้ของนายทุน

ปัจจุบันกลุ่มสัจจะฯ มีเงินทุนทั้งสิ้น ๓,๓๑๖,๔๖๗.๓๕ บาท (ณ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๓) มีสมาชิก จำนวน ๓๘๔ คน ซึ่งสมาชิกในกลุ่มจะได้รับสวัสดิการในด้านต่างๆ อาทิเช่น

· สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล กรณีที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล (คืนละ ๒๐๐ บาท)
· สวัสดิการค่าคลอดบุตร
· สวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์
· สามารถกู้เงินกลุ่ม ไปลงทุนประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว
· ดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืม นำมาปันผลคืนให้แก่สมาชิกภายในกลุ่มปีละครั้ง

คณะกรรมการดำเนินงานโดยสมาชิกเอง มีการออกกฎระเบียบ โดยการประชุมสมาชิกทุกเดือน ซึ่งสมาชิกทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ต้องถูกลงโทษตามที่กำหนดไว้แล้ว ทั้งนี้เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่สมาชิก และเพื่อผลประโยชน์จะได้ตกอยู่กับสมาชิกจริงๆ

การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด โดยพระอธิการสำรวม สิริภทฺโท ซึ่งท่านให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก ท่านเคยกล่าวว่า “มนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุด ซึ่งไม่สามารถสร้างทดแทนกันได้เหมือนสิ่งของอื่นๆ”


ดังนั้นท่านจึงจัดกิจกรรมการบำบัดรักษายาเสพติดหลายชนิด ท่านได้ให้ความเมตตาสำหรับผู้ที่ตั้งใจเลิกจริงๆ ท่านใช้ยาสมุนไพร ๓ ชนิดซึ่งเป็นรากไม้ ต้องนำมาฝนกับน้ำแล้วให้ผู้ติดยาเสพติดดื่ม ท่านบำบัดรักษามาหลายปี มีผู้มารับการบำบัดรักษาจากท่านมากมาย จนกระทั่งได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์สงเคราะห์ผู้อยากเลิกดื่มสุรา สาขาที่ ๔๑ บำบัดผู้ที่ต้องการเลิกเหล้า บุหรี่ กัญชา ยาบ้า กาว ทินเนอร์ หรือแม้กระทั่งหมาก

ปัจจุบันท่านได้หยุดทำการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดแล้ว เนื่องด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพ แต่ด้วยความเมตตา ท่านได้เทศน์สอนวิธีการสร้างกำลังใจให้เข้มแข็งที่จะเอาชนะความอยากยา ซึ่งเรื่องจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หากผู้ที่ต้องการเลิกยาเสพติดมีจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคง ก็สามารถเลิกได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา


ถนนลาดยาง

การขอสนับสนุนงบประมาณสร้างถนนลาดยางในหมู่บ้าน ซึ่งแต่ก่อนทางเข้าหมู่บ้านเป็นถนนลูกรังแคบๆ รถสัญจรไปมาไม่สะดวก สภาพถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ เวลารถสัญจรไปมาผ่านหมู่บ้านเกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทั้งสองข้างทางมาเป็นเวลายาวนานหลายสิบปี ด้วยเมตตาบารมีของหลวงพ่อสำรวม สิริภทฺโท ท่านจึงทำเรื่องเสนอสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) จังหวัดชัยนาท เพื่อของบประมาณสำหรับทำถนนลาดยางขึ้น และท่านได้ติดตามความก้าวหน้าอย่างใกล้ชิด ในระยะเวลาไม่นาน ทางราชการก็ได้อนุมัติงบประมาณ ให้ดำเนินการก่อสร้างถนนลาดยาง เพื่อให้รถสัญจรไปมาสะดวก เป็นระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร


นอกจากนี้ หลวงพ่อสำรวม สิริภทฺโท ยังนำญาติโยมช่วยกันปลูกและดูแลต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ ทั้งสองฟากฝั่งถนน เพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม แก่ผู้ที่เดินทางเข้าออกหมู่บ้านและสัญจรไปมา

การก่อสร้างสะพานคอนกรีตเข้าหมู่บ้าน (บ้านไร่สวนลาว) เมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๔๐ เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากมาจากจังหวัดอุทัยธานี ไหลผ่านพื้นที่ต่างๆ หลายตำบล และต้องลอดผ่านท่อระบายน้ำทางเข้าหมู่บ้าน ในเวลานั้นท่อระบายน้ำมีขนาดเล็ก ระบายได้ไม่ทัน เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและฝนตกชุก เกิดน้ำเอ่อล้นเข้าไปท่วมหมู่บ้านข้างเคียง ทำให้เกิดข้อพิพาทอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ประชาชนไม่สามารถเดินทางเข้าออกหมู่บ้านเพื่อไปประกอบอาชีพได้

หลวงพ่อสำรวม สิริภทฺโท ได้ทราบเหตุการณ์โดยตลอดเห็นความลำบากในอนาคต เห็นความร้าวฉานที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในภายภาคหน้า ด้วยความเมตตา ท่านจึงทำโครงการขอสร้างสะพานเข้าหมู่บ้านแทนถนนฝังท่อจากสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท จังหวัดชัยนาท ปัจจุบันโครงการดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ น้ำสามารถไหลได้สะดวก และขจัดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนทั้งหมดได้อย่างสิ้นเชิง


ประเพณีที่สำคัญ

๑. โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนพฤษภาคมเป็นประจำทุกปี
๒. โครงการปฏิบัติธรรมบวชเนกขัมมะ ทุกวันตลอดปี
๓. ประเพณีสงกรานต์ สรงน้ำพระภิกษุ-สามเณร วันที่ ๑๔ เมษายน เป็นประจำทุกปี
๔. ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ วันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ถือเป็นงานนักขัตฤกษ์ประจำปีของวัด
๕. งานทอดกฐิน
๖. งานบุญ ถือศีล ฟังธรรม ทุกวันสำคัญทางพุทธศาสนา






การบริหารและการปกครอง

วัดได้วางระเบียบปฏิบัติ โดยอาศัยพระธรรมวินัยเป็นหลัก ประกอบด้วย กฎระเบียบ คำสั่งและพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ที่ได้กำหนดไว้ มีเจ้าอาวาสหรือประธานสงฆ์ดูแลอย่างใกล้ชิด

คณะสงฆ์บริหารวัด
พระอธิการสำรวม สิริภทฺโท    เจ้าอาวาส
พระมนู ขนฺติธมฺโม                รองเจ้าอาวาส
พระบำรุง อุปฏฺฐาโก             ผู้ช่วยเจ้าอาวาส

ฝ่ายอุบาสิกา
แม่ชีสำอางค์ สังข์มุรินทร์      หัวหน้าแม่ชี


















ลำดับเจ้าอาวาสและรักษาการเจ้าอาวาส

๑. พระใบฎีกาชนก ปุญฺญาวฑฺฒโน
พ.ศ. ๒๔๗๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๘

๒. พระสังวาลย์ เขมโก (ร.ก. เจ้าอาวาส)
พ.ศ. ๒๕๑๐ ถึง วันที่ ๒ ส.ค. พ.ศ. ๒๕๑๙

๓. พระอธิการสังวาลย์ เขมโก
วันที่ ๓ ส.ค. พ.ศ. ๒๕๑๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๒

๔. พระสำรวม สิริภทฺโท (ร.ก. เจ้าอาวาส)
พ.ศ. ๒๕๒๒ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๗

๕. พระบุญลือ ธมฺมกาโม (ร.ก. เจ้าอาวาส)
พ.ศ. ๒๕๒๗   ถึง วันที่ ๒๙ ก.ค. พ.ศ. ๒๕๓๒

๖. พระอธิการบุญลือ ธมฺมกาโม
วันที่ ๒๙ ก.ค. พ.ศ. ๒๕๓๒   ถึง วันที่ ๒ ม.ค. พ.ศ. ๒๕๓๖

๗. พระมนู ขนฺติธมฺโม (ร.ก. เจ้าอาวาส)
วันที่ ๓ ม.ค. พ.ศ. ๒๕๓๖   ถึง วันที่ ๑๒ ก.ย. พ.ศ. ๒๕๔๓

๘. พระสำรวม สิริภทฺโท (ร.ก. เจ้าอาวาส)
วันที่ ๑๓ ก.ย. พ.ศ. ๒๕๔๓  ถึง วันที่ ๒๘ ธ.ค. พ.ศ. ๒๕๔๓

๙. พระอธิการสำรวม สิริภทฺโท
วันที่ ๒๙ ธ.ค. พ.ศ. ๒๕๔๓ ถึงปัจจุบัน



                                                    ประวัติ พระอธิการสังวาลย์ เขมโก

ชาติภูมิ เกิดเดือน มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๙ 
ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๔ ปีมะโรง  
ณ หมู่ ๕ ต. หนองผักนาก
อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี    
บิดาชื่อ นายห่วง จันทร์เรือง
มารดาชื่อ นางวาด จันทร์เรือง

อุปสมบท วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๔ เวลา ๑๔.๔๕ น.
ณ วัดนางบวช อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี
โดยมีพระครูแขก เป็นพระอุปัชฌาย์

ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาส วัดไกลกังวล
ตั้งแต่ วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
ถึง พ.ศ. ๒๕๒๒

เจ้าอาวาส วัดทุ่งสามัคคีธรรม
ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๒
ถึง วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๗

มรณะ วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๗ ตรงกับวันวิสาขบูชา

คติประจำใจ พูดจริงดี ทำจริงดีกว่า อาตมาขอสมาทาน




                                                   ประวัติ พระอธิการสำรวม สิริภทฺโท

ชาติภูมิ เกิดวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘   ปีมะเส็ง
ณ บ้านเลขที่ ๑๘๘ หมู่ ๕
ต.หนองผักนาก อ.สามชุก
จ.สุพรรณบุรี
บิดาชื่อ นายสุ่ม สว่างศรี
มารดาชื่อ นางส้มลิ้ม สว่างศรี

อุปสมบท วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๑ เวลา ๑๑.๐๑ น.
ณ วัดหนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
โดยมีพระครูสุธรรมสถิต เป็นพระอุปัชฌาย์

ใบสุทธิเลขที่ ๒๐/๒๕๒๑ (พระครูสุธรรมสถิต)

การศึกษา
ทางโลก ป. ๔ (ร.ร.สว่างศรีราษฎร์อุทิศ) ปี ๒๔๙๕
ทางธรรม นธ.โท ปี ๒๕๑๙

ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาส วัดไกลกังวล
ตั้งแต่ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
ถึง ปัจจุบัน (ตราตั้งเลขที่ ๑๒/๒๕๔๓)

คติประจำใจ อย่าเชื่อใจ อย่าตามใจ อย่าปล่อยใจ




                                                     ประวัติ พระอธิการบุญลือ ธมฺมกาโม


ชาติภูมิ เกิดวันที่ ๑๘ มิถุนายน  พ.ศ.๒๔๙๓
ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๔ ค่ำ   เดือน ๘ ปีขาล
ณ บ้านเลขที่ ๘๕ หมู่ ๓   บ้านกระเสียว ต.หัวเขา
อ.เดิมบางฯ จ.สุพรรณบุรี
บิดาชื่อ นายจำรุณ อุ่นทรัพย์
มารดาชื่อ นางจำรัส อุ่นทรัพย์

อุปสมบท วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๓
ณ วัดกระเสียว อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
โดยมีพระครูสุนทรานุกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์

ใบสุทธิเลขที่ ๓๔/๒๕๑๓ (พระครูสุนทรานุกิจ)

การศึกษา ทางโลก ป. ๔ (ร.ร.วัดกระเสียว) ปี ๒๕๐๔
ทางธรรม นธ.เอก ปี ๒๕๑๕

ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาส วัดไกลกังวล
ตั้งแต่ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒
ถึง วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖

ปัจจุบัน เป็นเจ้าอาวาส วัดป่าภาวนาวิเวก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี





                                                                  ประวัติ พระมนู ขนฺติธมฺโม


ชาติภูมิ เกิดวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์
พ.ศ.๒๔๙๗    ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ
เดือน ๓ ปีมะเมีย

ณ บ้านเลขที่ ๘๔ หมู่ ๔
บ้านบางคาง ต.วังลึก
อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
บิดาชื่อ นายบาง น้ำทิพย์
มารดาชื่อ นางนวล น้ำทิพย์

อุปสมบท วันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๐ เวลา ๑๒.๓๕ น.
ณ วัดท่าช้าง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี
โดยมีพระครูไพโรจน์ธรรมคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์

ใบสุทธิเลขที่ ๒๖/๒๕๒๐ (พระครูไพโรจน์ธรรมคุณ)

การศึกษา
ทางโลก ป. ๔ (ร.ร.วังจิก) ปี ๒๕๐๘
ทางธรรม นธ.โท ปี ๒๕๒๒

ดำรงตำแหน่ง รักษาการเจ้าอาวาส วัดไกลกังวล
ตั้งแต่ วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖
ถึง วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓


กิจวัตรประจำวัน

๑.)  ๐๓.๐๐ - ๐๕.๐๐ น. ทำวัตรเช้า - เจริญพระกัมมัฏฐาน
๒.) ๐๕.๐๐ - ๐๘.๓๐ น. พระภิกษุ - สามเณร ออกบิณฑบาต
๓.) ๐๘.๒๐ - ๑๐.๓๐ น. ทำภัตกิจ (ฉันภัตตาหาร)   และฟังธรรมจากครูอาจารย์
๔.) ๑๑.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. ศึกษาธรรมวินัย, เรียนนักธรรม
๕.) ๑๒.๐๐ - ๑๕.๐๐ น. เจริญพระกัมมัฏฐาน
๖.) ๑๕.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. กิจปัดกวาด, พัฒนาบริเวณอาวาส
๗.) ๑๖.๐๐ - ๑๖.๓๐ น. ฉันน้ำปานะ
๘.) ๑๘.๐๐ - ๒๑.๐๐ น. ทำวัตรเย็น – เจริญพระกัมมัฏฐาน
๙.) ๒๑.๐๐ น.เป็นต้นไป กิจส่วนตัว


หมายเหตุ
๑. รายการที่ ๔, ๕ ใช้เฉพาะในพรรษา
๒. ทุกวันพระ มีการถือเนสัชชิกังคะ (ถือการนั่ง ยืน เดิน เท่านั้น ไม่นอน) ทั้งคืน ตลอดปี
๓. ทุกวันอุโบสถ พระภิกษุทุกรูป ต้องลงอุโบสถทำสังฆกรรม (ฟังพระปาฏิโมกข์) ตลอดปี




ไกลกังวล

สารพัดดี มีอยู่ ห้าขุนเขา
เทพคอยเฝ้า สี่องค์ ทรงรักษา
ส่วนอีกหนึ่ง เป็นพญานาค มากฤทธา
แผ่เมตตา การุณย์ เกื้อหนุนนำ

มีลับแล นคร ซ่อนเร้นอยู่
ร่วมเคียงคู่ ชูชุบ อุปถัมภ์
จะได้เห็น หากทำดี มีศีลธรรม
อีกสองถ้ำ ปิดไว้ ไกลลับตา

ทั้งเพชรนิล จินดา ค่าไสว
พร้อมเหล็กไหล ไหวตัว ทั่วภูผา
หากวันดี คืนดี มโหรีมา
กล่อมนิทรา ผู้มาเยือน มิเลือนเลย

มีวัดใหญ่ ไกลกังวล คนรู้จัก
เป็นแหล่งหลัก กรรมฐาน นามเฉลย
เชิดศักดิ์ศรี ชัยนาท ประกาศเปรย
อีกทั้งเคย เด่นดัง ครั้งนานมา

มีรั้วสูง สามเมตร เจ็ดสิบเซนต์
ยาวดูเด่น ห้ากิโลฯ โชว์เชิดหน้า
ซุ้มประตู หรูงาม ตามตำรา
ติดตรึงตรา พาคะนึง ซึ้งหทัย

พระลีลา ภาวนา ชัยสิทธิ์
ยืนประดิษฐ์ กลางน้ำ งามไสว
หุ่นขี้ผึ้ง หลวงพ่อสังวาลย์ งามวิไล
ศิษย์กราบไหว้ บูชา อยู่อาจิณ

อีกพระร่วง โรจนฤทธิ์ สถิตอยู่
ได้เชิดชู คู่ชิด นิจสิน
พระนาคปรก ของเก่า เราได้ยิน
สลักหิน เขียวมรกต สดทั้งองค์

พระกัสสปะฯ ล้ำค่า คู่โบสถ์เก่า
เตือนใจเรา ชาวพุทธ จุดประสงค์
ไว้ยอดเขา สุดเขต เจตจำนง
พุทธบาท...คง คู่ไว้ วิไลตา

หอภาวนา ค่าล้ำ ย้ำเตือนจิต
สร้างอุทิศ เพื่อชาติ ศาสนา
กุฏิทรงไทย เฉลิมพระเกียรติ กษัตรา
งามสง่า ท้าเมืองแมน แดนวิมาน

ศาลาใหญ่ จัดไว้ มีระเบียบ
กุฏิ...เพียบ พร้อมสรรพ รับสถาน
สาธุชน สนทนา สาธุการ
พระ ชี...ท่าน ปฏิบัติดี มีวินัย

มีหลวงพ่อ สำรวม คอยสอนศิษย์
ท่านคอยคิด แก้ตรง ที่สงสัย
จะร้าย ดี ก็เฝ้ามอง ประคองไป
ด้วยหทัย การุณย์ คุณธรรม

ชมสัตว์ป่า มากมาย หลายชนิด
เคลียคลอชิด เคียงคู่ ดูคมขำ
พร้อมพันธุ์ไม้ มากมี ที่จัดทำ
จะจดจำ ฝังใจ “ไกลกังวล”

ประพันธ์ โดย พระบำรุง อุปฏฺฐาโก



บรรณานุกรม

๑. ทรงธรรม สงฆ์ประชา, ประวัติวัดไกลกังวล (เขาสารพัดดีศรีเจริญธรรม), ๒๕๓๒.
๒. ภัทริน ซอโสตถิกุล, สิริภทฺทาริยบูชา, บริษัท บอสส์
การพิมพ์ จำกัด, พฤษภาคม ๒๕๔๘.
๓. หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก, คำบอกเล่า, ๒๕๑๘.
๔. อาจารย์เลียบ เมืองคล้าย, คำบอกเล่า, ๒๕๓๕.

คนดี ชอบแก้ไข    คนจัญไร ชอบแก้ตัว
คนชั่ว ชอบทำลาย    คนมักง่าย ชอบทิ้ง
คนจริง ชอบทำ     คนระยำ ชอบติเตียน