หลวงพ่อสำรวม กับผลงานที่ปรากฏ


หลวงพ่อสังวาลย์ และ หลวงพ่อสำรวม

             เมื่อหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก ได้ย้ายไปอยู่วัดทุ่งสามัคคีธรรมแล้ว (ปีพุทธศักราช ๒๕๒๒) หลวงพ่อสำรวม สิริภทฺโท ได้รับหน้าที่บริหารวัดแทนจนถึงปัจจุบัน และท่านได้พัฒนาสถานที่ต่างๆ หลายประการ

การพัฒนาสถานที่



ปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ - ๒๕๓๑ ท่านได้สร้างเจดีย์ประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ จำลองจากพระปฐมเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ขนาดฐานกว้างโดยรวมประมาณ ๒๐ เมตร สูง ๑๘ เมตร ปูพื้นด้วยกระเบื้องโมเสค ไว้ที่ไหล่เขาสารพัดดี มีบันไดทางขึ้น จำนวน ๑๓๑ ขั้น กว้างขั้นละ ๒.๕ เมตร พร้อมกับสร้างแท็งก์น้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒.๒ เมตร สูง ๓.๗ เมตร จำนวน ๓ แท็งก์





ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ ท่านได้ออกแบบก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์ด้วยตนเองบนพื้นที่กว่า ๒ ไร่ เป็นอาคารชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง ๒๒ เมตร ยาว ๔๐ เมตร พื้นปูด้วยปาเก้ไม้สัก พร้อมกับห้องน้ำจำนวน ๑ แถว (๘ ห้อง) และแท็งก์น้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๗ เมตร สูง ๔.๗ เมตร จำนวน ๑๐ แท็งก์ ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ๖ ล้านบาท ที่สำคัญศาลาหลังนี้ไม่มีเสากลางอาคารเลย ซึ่งเป็นที่ประหลาดใจแก่ผู้พบเห็น และเป็นที่ศึกษาดูงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันการศึกษาหลายแห่ง

ปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ ท่านได้สร้างสร้างศาลาหอฉันแทนศาลาหลังเดิมที่ยุบพังลง ศาลาหลังใหม่เป็นอาคารชั้นเดียว ก่ออิฐ ถือปูน ขนาดกว้าง ๒๔.๔ เมตร ยาว ๒๔.๔ เมตร เป็นพื้นหินขัดพร้อมกับห้องน้ำจำนวน ๑ แถว (๘ ห้อง) และแท็งก์น้ำ ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๖ เมตร สูง ๔.๓ เมตร จำนวน ๑ แท็งก์ ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ๒ ล้านบาทเศษ

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ – ๒๕๓๒ ท่านได้ดำริที่จะทำการก่อสร้างกำแพงวัดรอบพื้นที่เขาสารพัดดี ด้วยเหตุผล ๔ ประการ คือ

๑. เพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างวัดกับญาติโยมโดยรอบ
๒. เพื่อป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ป่าและสัตว์ป่า
๓. เพื่อให้วัดมีความสัปปายะ สงบร่มเย็น เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม
๔. เพื่อจัดความเป็นสัดส่วนระหว่างวัดกับชุมชน

แต่ท่านไม่มีปัจจัยในการดำเนินการก่อสร้าง ท่านจึงขอยืมจากศรัทธาญาติโยม โดยมีเงื่อนไขอยู่ ๓ ประการ หากโยมท่านใดรับข้อแม้ของท่านได้ ท่านจึงจะขอยืม เงื่อนไขนั้นมีอยู่ว่า

ข้อที่ ๑. ดอกผล ขอให้ตอบแทนเป็นบุญ
ข้อที่ ๒. ไม่มีกำหนดคืนที่แน่นอน ถ้ามีเมื่อไรจะคืนให้ทันที
ข้อที่ ๓. หากท่านถึงแก่มรณภาพก่อนใช้หนี้หมด โยมต้องยกหนี้ที่เหลือถวายให้ท่าน

ท่านเล่าให้ฟังว่า พอโยมเจ้าของเงิน ได้รับทราบเงื่อนไขของท่านทั้ง ๓ ข้อ ก็ตอบตกลงให้ท่านยืมทันที ท่านควบคุมการดำเนินการก่อสร้างด้วยตนเอง ทำงานทั้งกลางวันกลางคืนด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก แล้วเสร็จในเวลาเพียง ๑๑ เดือน



กำแพงวัดรอบเขาสารพัดดี มีความยาว ๕ กิโลเมตร สูง ๓.๗๐ เมตร เป็นกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก เทคานก่ออิฐบล็อกตัน อิฐแต่ละก้อนหนัก ๑๗ กิโลกรัม ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ๓๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นกำแพงวัดที่ยาวที่สุดในโลก ปัจจุบัน ทางวัดกำลังก่อสร้างกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นนอกล้อมรอบที่ธรณีสงฆ์ ที่ยังเหลืออยู่โดยรอบบริเวณวัด ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อีกกว่า ๑,๐๐๐ ไร่ คิดเป็นระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ สิ่งปลูกสร้างอันเป็นหลักของวัด คือ อุโบสถ หลังเก่าซึ่งมุงหลังคาสังกะสีไว้สำหรับทำกิจของสงฆ์บนยอดเขาสารพัดดี มีสภาพทรุดโทรมเต็มที ท่านได้วางแผนก่อสร้างใหม่ในพื้นที่เดิมจนสำเร็จ อุโบสถหลังใหม่เป็นอาคารชั้นเดียว ปูพื้นด้วยหินอ่อน หลังคาทรงสเปน ความกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๖ เมตร สูง ๑๕ เมตร ไม่มีฝาผนัง ลมสามารถพัดเข้าออกสะดวก โปร่งเย็นสบาย ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ๓ ล้านบาท และฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๕











ภายในอุโบสถหลังเก่า เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานศักดิ์สิทธิ์คู่วัดสร้างในสมัยลพบุรีคือพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ก่อนหน้า พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า, องค์หน้าในภาพ) ซึ่งชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ท่านจึงบูรณะซ่อมแซมใหม่ในคราวเดียวกันกับการสร้างอุโบสถหลังใหม่ อีกทั้งท่านได้สร้างใบสีมา แกะสลักจากหินแกรนิตทั้งก้อน น้ำหนักใบละ ๑ ตันกว่า ขนาดกว้าง ๐.๙ เมตร สูง ๒.๑๐ เมตร หนา ๐.๒๖ เมตร จำนวน ๘ ใบ พร้อมฐาน กว้าง ๑.๗๖ เมตร ยาว ๑.๗๖ เมตร สูง ๑.๕๕ เมตร ครอบลูกนิมิตที่ประดิษฐานไว้รอบอุโบสถหลังใหม่ทั้ง ๘ ทิศ ซึ่งแทนพระอรหันต์ที่สำคัญ ๘ องค์ ได้แก่

๑. พระโมคคัลลานะ (อุดร) ทิศเหนือ
๒. พระราหุล (อีสาน) ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
๓. พระโกณฑัญญะ (บูรพา) ทิศตะวันออก
๔. พระมหากัสสปะ (อาคเนย์) ทิศตะวันออกเฉียงใต้
๕. พระสารีบุตร (ทักษิณ) ทิศใต้
๖. พระอุบาลี (หรดี) ทิศตะวันตกเฉียงใต้
๗. พระอานนท์ (ประจิม) ทิศตะวันตก
๘. พระควัมปติ (พายัพ) ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
(ลูกนิมิตกลางอุโบสถ แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
ปัจจุบัน อุโบสถหลังนี้ได้ใช้ในการบรรพชาอุปสมบทให้แก่กุลบุตร และทำสังฆกรรมต่างๆ ตลอดมา

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ - ๒๕๓๕ ท่านได้ออกแบบก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เขมโก เป็นอาคารชั้นเดียว ลักษณะทรงกลม มีพื้นที่รอบนอก (ระเบียง) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๗.๕ เมตร และพื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๓.๕ เมตร สูง ๕.๕ เมตร มีทางเดินวนได้โดยรอบ ก่อสร้างอยู่กลางสระน้ำ บริเวณหน้าวัด มีสะพานเชื่อมต่อกับขอบสระ ด้านบนเป็นฐานประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ความสูง ๘๔ เซนติเมตร องค์พระพุทธรูปมีความสูงจากฐานล่าง ถึงพระเกศ ๕.๕ เมตร ผนังด้านนอก ประกอบขึ้นจากกระเบื้องดินเผา แสดงสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง (ประสูติที่ลุมพินีวัน, ตรัสรู้ที่พุทธคยา, แสดงปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน, ปรินิพพานที่กุสินารา) ภายใต้ฐานพระนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เขมโก และเป็นที่เก็บรักษาหุ่นขี้ผึ้งและบริขารของหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก ผู้เป็นครูบาอาจารย์ของท่าน

ภายในพิพิธภัณฑ์เขมโก ประกอบด้วย

· ตู้ใส่เครื่องบริขาร ความกว้าง ๓๒ นิ้ว สูง ๗๑ นิ้ว จำนวน ๒ หลัง
· แจกันหินอ่อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๙ นิ้ว สูง ๒๖ นิ้ว จำนวน ๒ ใบ
· แท่นหินอ่อนวางกระถางธูป ขนาเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ นิ้ว สูง ๓๔.๕ นิ้ว จำนวน ๑ แท่น

ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองพระชนมพรรษาครบ ๗๒ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ท่านได้สร้างกุฏิเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กุฏิเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา เป็นอาคารทรงไทย ๒ ชั้นหลังคากระเบื้อง ขนาดกว้าง ๑๗.๕ เมตร ยาว ๒๑ เมตร สร้างจากไม้สักทองทั้งหลัง พื้นชั้นล่างปูด้วยหินแกรนิต ราคาประมาณเกือบ ๓๐ ล้านบาท เพื่อเป็นการอนุรักษ์แบบบ้านทรงไทย ซึ่งเป็นศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทย ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ และท่านใช้เป็นกุฏิรับรองครูบาอาจารย์ และพระเถระผู้ใหญ่อีกด้วย




ปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ ท่านได้สร้างพระมหากัจจายนะ แกะสลักจากหินทรายทองทั้งก้อน หนัก ๑๘ ตัน ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๓ นิ้ว (๑.๓๕ เมตร) สูง ๖๓ นิ้ว (๑.๖๐ เมตร) ประดิษฐานไว้ด้านหน้ากุฏิเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ – ๒๕๔๗ ท่านได้ออกแบบก่อสร้างสถูปภูเขาหินจำลองครอบรอยพระพุทธบาท อยู่บนยอดเขา ด้านหลังอุโบสถ สถูปภูเขาหินจำลอง ครอบรอยพระพุทธบาท ลักษณะเป็นถ้ำ
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ภายใน ๒๒ เมตร. ภายนอก ๒๖ เมตร

ความสูงภายใน ๑๔.๕๐ เมตร. ภายนอก (จากฐานถึงพื้น) ๑๙.๓๖ เมตร. (จากฐานถึง ขอบปูนบน) ๒๐.๔๕ เมตร
สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑๘๗.๔๕ เมตร. (ยอดเขาสารพัดดี สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๑๖๗ เมตร)ภายในสถูป ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ๔ รอย ขนาดกว้าง ๔ เมตร ยาว ๖ เมตร สร้างในปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ และในวันที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕ ท่านได้สร้างรอยพระพุทธบาทซ้าย – ขวา ขนาดกว้าง ๑.๖๕ เมตร ยาว ๓ เมตร เพิ่มอีก ๒ รอย ซึ่งแกะสลักเป็นรูปมงคล ๑๐๘ บนก้อนหินทรายทอง ๒ ก้อน แต่ละก้อน หนักก้อนละ ๑๘ ตัน โดยฝังไว้ในพื้นดินที่ความลึก ๒ เมตรจากหน้าดิน เพื่อให้สามารถมองเห็นรอยพระพุทธบาทได้ชัดเจน